เครือข่ายสมัชชาสุขภาพเสนอมาตรการเข้ม สกัดปัญหาสมองไหลเข้าโรงพยาบาลเอกชน

ข่าวทั่วไป Friday November 12, 2010 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สม้ชชาสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพตระหนกเมดิคัลฮับได้ไม่คุ้มเสีย แม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศแต่ก็สร้างปัญหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมองไหลเข้าโรงพยาบาลเอกชน เสนอใช้นโยบายด้านการคลังเพื่อลดผลกระทบ อาทิ เพิ่มค่าปรับแพทย์ ที่ทำงานใช้ทุนไม่ครบ หรือใช้มาตรกรทางภาษีที่เหมาะสม เผยอาจารย์แพทย์ระดับหัวกะทิไหลออกสู่ภาคเอกชนมาก หวั่นแพทย์จบใหม่ไม่มีคุณภาพ เพราะต้องใช้เวลากว่า 10 ปี สร้างอาจารย์แพทย์ 1 คน ด้านชมรมแพทย์ชนบทออกโรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน จี้รัฐเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งคนป่วยต่างชาติ- โรงพยาบาล แนะรัฐเพิ่มค่าตอบแทนและเพิ่มตำแหน่งให้หมอชนบทกันสมองไหล กรณีที่มีความเห็นจากหลายฝ่ายออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือเมดิคัลฮับ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงผู้ป่วยต่างชาติให้เข้ามารับบริการในเมืองไทยไม่ตํ่ากว่าปีละ 1 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่นักวิชาการท้วงติงว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากภาครัฐถูกเอกชนดึงตัวไปเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาจนเกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อการบริการสุขภาพของคนไทยทั่วประเทศนั้น รายงานข่าวจากคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเรื่องนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติแจ้งว่า ขณะนี้การพัฒนาร่างมติหลังส่งไปรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นกำลังปรับร่างเอกสารหลักและร่างมติ หากเสร็จสมบูรณ์ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างคณะทำงานเฉพาะประเด็น ในประเด็นหลักๆ เช่น มุมมองต่อผลกระทบทางบวกและลบจากนโยบายเมดิเคิลฮับ ซึ่งภาคธุรกิจเห็นว่าเป็นโอกาสของประเทศในการพัฒนาทางการแพทย์และสร้างรายได้ อีกทั้งยังดึงดูดแพทย์ไทยในต่างแดนให้กลับมาทำงานในประเทศ ขณะที่นักวิชาการและองค์กรภาคเอกชนเห็นว่าเป็นการเบียดเบียนระบบบริการของคนไทย ด้วยการดึงแพทย์ระดับอาจารย์ออกจากระบบรัฐ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม รัฐไม่ควรนำภาษีประชาชนไปหนุนช่วยการดำเนินการของธุรกิจเอกชน ที่ปัจจุบันก็เติบโตได้เองอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีความเห็นต่างในเรื่องมาตรการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมผู้ป่วยต่างชาติ มาตรการจำกัดจำนวนผู้ป่วยต่างชาติ มาตรการเก็บภาษีเพิ่มจากโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนยังเสนอข้อมูลตัวเลขว่าในแต่ละปีจะมีแพทย์จบใหม่ออกมาประมาณปีละ 2,000 คน ดังนั้น เมื่อมีนโยบาย เมดิคัลฮับก็จะไม่กระทบต่อการขาดแคลนแพทย์ โดยเฉพาะในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีแพทย์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,000 คน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นหลายครั้งและยังมีการจัดเวทีเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำความเห็นดังกล่าวมารวบรวมเป็นข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยตระหนักว่าบุคลากรสาธารณสุขทั้งแพทย์และพยาบาลมีความขาดแคลนในภาพรวม ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไปสนับสนุนบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลของเอกชนที่มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเป็นหลัก และต้องไม่นำโรงพยาบาลชั้นนำของรัฐเข้าร่วมใน เมดิคัลฮับด้วย โดยประเด็นสำคัญๆ ที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศเสนอความเห็นเข้ามา เช่น เพิ่มอัตราการปรับเงินสำหรับแพทย์ที่ลาออกก่อนครบกำหนดการใช้ทุน จากเดิมที่กำหนดเอาไว้คนละ 400,000 บาท เพราะเป็นอัตราเก่าที่กำหนดเอาไว้นานมากแล้ว ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสนับสนุนตกคนละ 3 ล้านบาท การเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรภาครัฐเท่าเทียมกับภาคเอกชน โดยกำหนดเพดานค่าตอบแทนระหว่างเอกชนกับรัฐไม่ให้สูงเกินไป “นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมลํ้า เช่น กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากการบริการทางการแพทย์ต่อชาวต่างชาติจากโรงพยาบาลเอกชนและแพทย์ไทยผู้ให้การรักษาเพิ่ม จากปกติอีกร้อยละ 20 และให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ป่วยต่างชาติ เพื่อนำภาษีเหล่านี้มาสร้างบุคลากร ทางการแพทย์ให้พอเพียงแก่ประชาชน และเสนอไม่ให้มีการอนุมัติหลักสูตรวิชาชีพนานาชาติที่จะเปิดสอนในอนาคต หากไม่มีหลักประกันว่าบุคลากรเหล่านี้จะสมองไหลไปอยู่ภาคเอกชนกันหมด โดยเสนอให้ผู้ที่จบออกมาต้องไปทำงานรับใช้ทุนในชนบทอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี” นางสาวกรรณิการ์กล่าว กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังกล่าวด้วยว่า มีรายงานจากทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ยืนยันว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์ในระดับอาจารย์ที่ลาออกไปทำงานกับภาคเอกชนแล้วประมาณ 70 คน และมีรายงานว่ามีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่รับผู้ป่วยต่างชาติ มีแพทย์ที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 40 คนที่ย้ายมาจากโรงเรียนแพทย์ในรอบ 5 ปี “ถึงแม้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะผลิตแพทย์ออกมาได้อีกเป็นหมื่นคน แต่ตัวเลขนี้ก็จะไม่มีความหมายเลย เพราะแพทย์ที่จบออกมาอาจจะไม่มีคุณภาพ เนื่องจากแพทย์ในระดับอาจารย์ที่จะสอนแพทย์ใหม่ถูกดึงตัวออกไปหมดแล้ว เพราะภาคเอกชนให้เงินเดือนสูงกว่ารัฐ” กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน ไม่ว่าในเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีสำหรับผู้ป่วยต่างชาติและโรงพยาบาลเอกชน เพราะการผลิตแพทย์และพยาบาลที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโดยใช้ภาษีอากรจากประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นเมื่อมีการดึงเอาบุคลากรที่รัฐลงทุนไป และทำให้เอกชนเกิดผลกำไรเพิ่มขึ้น เอกชนก็ควรที่จะจ่ายภาษีเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถตอบคำถามต่อสังคมได้ และรัฐก็ไม่ควรสนับสนุน ปล่อยให้เอกชนดำเนินการไปเอง “ขณะนี้แพทย์ในชนบทขาดแคลนมานานแล้ว หากรัฐสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ ก็จะยิ่งทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐต่างจังหวัดถูกดึงตัวไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านในชนบท หากไม่มีการป้องกันสมองไหล แพทย์ที่จบออกมาใหม่ๆ ก็จะไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลเมดิคัลฮับกันหมด” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว และว่า การแก้ปัญหาสมองไหลนั้น รัฐควรจะเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่แพทย์ในชนบทเพื่อเป็นแรงจูงใจ เช่น ปัจจุบันค่าตอบแทนระหว่างบุคลากรภาครัฐกับเอกชนต่างกันประมาณ 8-10 เท่า ก็ควรจะร่นให้เหลือ 1-2 เท่า เพราะขณะนี้แพทย์จบใหม่ที่ไปอยู่กับเอกชนจะได้เงินเดือนไม่ตํ่ากว่า 100,000 บาท หากเป็นระดับอาจารย์แพทย์ก็ไม่ตํ่ากว่า 200,000 บาท ขณะที่ภาครัฐได้ไม่เกิน 30,000-40,000 บาท นอกจากนี้ก็ควรที่จะปรับอัตราตำแหน่งให้มีความก้าวหน้าด้วย นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา เลขานุการอนุกรรมการวิชาการ ของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างมตินโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงในสาระและรายละเอียดเพื่อให้ทันต่อการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ซึ่งในส่วนของข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเห็นร่วมกันว่าอาจเสนอในร่างมติให้มีการศึกษาข้อมูลผลกระทบจากนโยบายเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รูปธรรมในการสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ฯลฯ และนำผลการศึกษามารายงานต่อสมัชชาสุขภาพภายใน 1 ปี โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่เป็นจริงด้วย “ทั้งนี้หากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทมติในประเด็นนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างไร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็จะนำมตินั้นเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้เครือข่ายองค์กรภาคีที่ได้เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกลางธันวาคมนี้ ได้ติดตามและเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงมติออกมาให้ดีที่สุดและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป” นางอรพรรณกล่าว
แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ