iTAP " ERP เครื่องมือบริหารธุรกิยุคแข่งขันสูง"

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 12, 2010 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สวทช. ERP เครื่องมือบริหารธุรกิจยุคการแข่งขันสูง ช่วย SMEs ไทยตัดสินใจได้ไวขึ้น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านระบบ ERP ในโครงการ iTAP (สวทช.) ชี้ ระบบ ERP เป็นเครื่องมือการบริหารจัดการธุรกิจในยุคการแข่งขันสูง แม้ราคาค่อนข้างสูงแต่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะช่วยผู้ประกอบการตัดสินใจเร็วขึ้น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ยืนยันธุรกิจที่นำระบบ ERP ไปใช้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้นำ ERP ไปใช้ ที่สำคัญระบบ ERP ช่วยสร้างกระบวนการตรวจสอบภายใน ป้องกันปัญหาการทุจริตระบบคลังสินค้าขององค์กรได้เป็นอย่างดี ในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง เจ้าของธุรกิจต่างต้องดิ้นรนเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือการลดต้นทุน โดยยังคงรักษาคุณภาพไว้คงเดิม ขณะที่ไม่สามารถเพิ่มราคาขายต่อหน่วยได้แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น คำถามคือ ทำอย่างไร....คำตอบคือ การบริหารจัดการภายในอย่างมืออาชีพ และวิธีที่จะบริหารจัดการให้มีต้นทุนลดลงอย่างสมเหตุสมผลทันต่อสถานการณ์และถูกช่วงเวลาได้นั้นก็คือการนำ “เทคโนโลยี หรือ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์” เข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญนั่นคือ ระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กรโดยรวม หรือ ERP ซึ่งย่อมาจาก Enterprise Resource Planning องค์กรโดยเฉพาะผู้บริหารที่นำระบบ ERP มาใช้ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบ ERP เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการองค์กรเท่านั้น มิใช่ “ผู้บริหารองค์กร” ดังนั้นปัญหาที่เกิดในกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งหมดยังต้องใช้บุคลากรเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีระบบ ERP เป็นตัวช่วยสำคัญ แต่การดำเนินการติดตั้งและการใช้ ERP ของไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างมาก จึงต้องมีผู้ค่อยให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจนั้น ๆ เนื่องจากการเลือกระบบERPที่ไม่เหมาะสมอาจไม่คุ้มค่าหากนำระบบดังกล่าวมาใช้โดยไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้น บทบาทของผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาทางด้านระบบ ERP จึงถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน นายธวัชชัย ประนอมมิตร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านซอฟต์แวร์บริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ ERP ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า “ ระบบ ERP ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าการนำระบบ ERP มาใช้เพื่อต้องการแก้ปัญหา และมองว่า ERP เป็นโปรแกรมอัจฉริยะที่ทำงานแทนคน และจะทำให้คนตกงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง!! ระบบ ERP เป็นเพียงเครื่องมือที่คอยตรวจสอบ รวบรวมและรายงานผลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งยังคงต้องใช้คนในการตัดสินใจจากรายงานที่ได้รับ อยากให้มอง ERP เป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ในการบริหารธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง วางแผนการใช้วัตถุดิบ วางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบ วางแผนการผลิต ควบคุมการผลิต ควบคุมคลังวัตถุดิบ รายงานต้นทุน สินค้าสำเร็จรูปคงคลัง รายงานการส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อ รายงานทางบัญชีและการเงิน และกระบวนการควบคุมภายในอื่นๆ ตามลำดับได้อย่างสมบูรณ์ ERP จะช่วยผู้บริหารสามารถรับรู้สถานการณ์และปัญหาของงานต่างๆได้ทันที นำไปสู่การตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถบริหารองค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุด ” ระบบ ERP เป็นระบบที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร ซึ่งแตกต่างจากระบบ MRP (Manufacturing Resource Planning) ที่เน้นบริหารจัดการเฉพาะในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ไม่มีการเชื่อมโยงกับระบบบัญชีและการเงิน โดย ERP เป็นระบบที่เชื่อมโยงกระบวนการทำงานขององค์กร(Business Process)เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การขาย คลังสินค้า กระบวนการผลิต ระบบงานด้านบัญชีและการเงิน ระบบทรัพยากรบุคคล รวมถึงระบบการกระจายสินค้าไปสู่ลูกค้า และสร้างกระบวนการบริหารทรัพยากรขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงานได้อีกด้วย ข้อดีของการทำระบบ ERP อีกประการ คือ ป้องกันและหรือลดการทุจริตด้านคลังสินค้า , คุณภาพการจัดการคลัง , ลดการสูญเสียของสินค้าคงคลัง และสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ , ลดสินค้าที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเมื่อมีสินค้าคงคลัง เพราะการมีระบบคลังสินค้าและวัตถุดิบที่ดีขององค์กรจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีส่วนต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายมากขึ้น สำหรับการทำงานของผู้เชี่ยวชาญนั้น นายธวัชชัย อธิบายว่า การทำงานของผู้เชี่ยวชาญจะมีลักษณะเหมือนเป็นผู้บริหารคนหนึ่งขององค์กรที่ต้องรู้ทั้งกระบวนการทำงานของระบบ ERP และต้องรู้กระบวนการทำงานของธุรกิจ(Business Process) ผู้เชี่ยวชาญต้องรู้ทุกเรื่องของธุรกิจนั้น ไม่เว้นกระทั้ง สูตรการผลิต แหล่งที่มาของวัตถุดิบ วิธีการผลิต สถานะทางการเงิน นโยบาย จุดเด่น จุดด้อย ฯลฯ และต้องทำงานร่วมกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการเหมือนเพื่อนร่วมงาน ทำให้ต้องมีการเซ็นสัญญาในการรักษาความลับข้อมูลของบริษัท เนื่องจากข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญรู้เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ และเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลครบทุกด้าน และสามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน หากไม่ทำเช่นนั้นบริษัทอาจไม่ไว้ใจ และนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ผิดพลาดได้ “ การเป็นผู้เชี่ยวชาญต้องมีทั้ง ‘ศาสตร์และศิลป์’ ต้องนำข้อมูลทุกแง่มุมไม่เว้นกระทั่งพฤติกรรมของพนักงานมาวิเคราะห์และวางแผนการใช้ข้อมูลอย่างมีระบบ นี่คือ...ความแตกต่างระหว่างการเป็นที่ปรึกษากับนักวิจัย และด้วยประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เข้าไปวิเคราะห์เห็นปัญหาของโรงงานจำนวนมาก จึงสามารถที่จะนำประสบการณ์เหล่านั้น มาเป็นแนวทางป้องกันและหรือแก้ปัญหาให้กับองค์กรหนึ่งได้....เพราะเป้าหมายของการทำธุรกิจคือรายได้ โจทย์ที่ได้จากบริษัทไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือนโยบายในอนาคตเราต้องใส่ใจทุกกรณี ความเป็นผู้เชี่ยวชาญจึงต้องรู้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจเพื่อนำมาวิเคราะห์ ที่สำคัญ ต้องคิดเผื่อไปข้างหน้า คิดก่อนทำวางแผนก่อนดำเนินการ แต่ต้องทันต่อเหตุการณ์และต้องทำงานให้เหมาะกับช่วงเวลา ” นายธวัชชัย ย้อนถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญว่า จากความรู้ด้านฮาร์ดแวร์มาเริ่มอาชีพวิศวคอมพิวเตอร์ แต่มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ MRP ที่สหรัฐอเมริกา หลังศึกษาสำเร็จกลับมาได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกับเนคเทคใน “โครงการพัฒนาโปรแกรม MRP สำหรับ SMEs ไทย” เมื่อหลายปีที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้จัดตั้งบริษัท SPECTRUM NETWORKS ขึ้นทำธุรกิจด้านการพัฒนาระบบ MRP ที่ต่อยอดการปรับปรุงพัฒนามาจากโครงการเดิมของเนคเทค เพื่อให้มีระบบการใช้งานที่เหมาะสมกับธุรกิจของคนไทยมากขึ้น จนได้เข้าร่วมงานกับ iTAP จากช่วงแรกทำงานเชิงธุรกิจก่อนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสสระ เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาโรงงานมากขึ้น จึงพบว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่สนใจระบบ MRP มากกว่า เพราะคิดว่ามีระบบบัญชีใช้กันอยู่แล้ว แต่เมื่อรู้ถึงข้อดีข้อเสีย และวิธีการจัดการ ก็จะเปลี่ยนใจหันมาใช้ระบบ ERP กันมากขึ้น เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน ช่วยบริหารจัดการธุรกิจได้สะดวก แต่ข้อเสีย คือ การติดตั้งค่อนข้างยุ่งยาก และมีราคาแพง (ประมาณ 2-3 ล้านบาท) สาเหตุที่หันมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ ERP นั้น นายธวัชชัย กล่าวว่า “เพื่อต้องการตอบโจทย์ของธุรกิจSMEsไทยได้ใช้ระบบERPที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุน จึงต่อยอดองค์ความรู้ด้วยการเรียนรู้ระบบบัญชี-การเงิน และ Business Management เพิ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งโซลูชั่นรวม(Total Solution) ประกอบกับมีทีมงานที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์งบการเงินและระบบบัญชี ทำให้การเข้าไปเป็นทีมฯ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ” ด้านผลงานที่เข้าไปสนับสนุนธุรกิจไทยผ่านโครงการ iTAP ที่ผ่านมา อาทิ การให้ความเข้าใจพื้นฐานกับผู้บริหารและทีมงานก่อนดำเนินการใดๆ กับการใช้เทคโนโลยีของบริษัท , โครงการเตรียมความพร้อมก่อนใช้ระบบ ERP , การเป็นที่ปรึกษาในโครงการติดตั้งระบบ ERP ในส่วนผู้ใช้กรณีที่ใช้ระบบ ERP จากต่างประเทศ และเป็นผู้ประเมินและติดตามโครงการ MRP/ERP สำหรับ SMEs ไทยที่ขอรับการสนับสนุนจาก iTAP จนถึงปัจจุบันมีแล้วกว่า 80 โรงงาน อาทิ เอกชัยสาลี่สุพรรณ, ทรานเทคอุตสาหกรรม , เอ็นจิเนียริ่งพลาสติก , ไทยลีการเกษตร เป็นต้น โดยเฉพาะเอกชัยสาลี่ฯ หลังนำระบบ ERP ไปใช้แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เพราะนอกจากโจทย์ที่ผู้ประกอบการมีความต้องการนำซอฟต์แวร์มาใช้งานเท่านั้นโดยไม่ได้ระบุว่าต้องการใช้ระบบใด หลังจากที่เข้าไปวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นและดูภาพรวมการผลิตแล้ว ก็ได้โครงการเตรียมความพร้อมก่อนใช้ระบบ ERP และช่วยจัดทำโครงสร้างรหัสสินค้า , ออกแบบระบบเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจขายหน้าร้าน(POS System) ทำให้เอกชัยฯ สามารถขายสินค้าได้ทุกรายการถึงแม้ว่าระบบ ERP จำเป็นต้องหยุดการทำงานบางช่วงเพื่อการบำรุงรักษาก็ตาม พร้อมแนะนำซอฟต์แวร์ให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับธุรกิจ และเป็นที่ปรึกษาในการติดตั้งระบบ ลดการสูญเสียด้านคลังสินค้าให้กับบริษัทอีกมากด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบความคุ้มค่าผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านระบบ ERP ยืนยืนว่า “ ระบบ ERP จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจนั้นๆ มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้นำระบบดังกล่าวไปใช้ ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างยิ่ง เช่น กรณีบริษัทบางแห่งคิดแล้วสามารถคุ้มทุนภายใน 6 เดือนจากการลงทุนติดตั้งระบบ ERP มูลค่า 3 ล้านบาท จากสาเหตุเดียวที่ระบบ ERP ช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ทันต่อเหตุการณ์ มีผลทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าปรับจากการส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ” นายธวัชชัย ยังกล่าวด้วยว่า โครงการ iTAP เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีวิสัยทัศน์ และมีระบบการทำงานที่ดีมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีกระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอีกทีมหนึ่ง และยังมีทุนสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการถึง 50% ของงบประมาณโครงการ(ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ) ที่สำคัญคือตัวผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้การใช้เงินงบประมาณของรัฐในการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของSMEsไทยเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น จึงมองว่า iTAP เป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 115,114

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ