กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ระดับน้ำลดลงแล้ว คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ลดระดับลง และคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้ ส่วนจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำของ ลำน้ำมูลและชี มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ขณะที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในระยะ 1 — 2 วันนี้
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมของประเทศว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง พบว่า ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มมีปริมาณลดลง คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ลดระดับลง และคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีฝนตกน้อยลง และ น้ำเหนือที่ไหลลงมามีปริมาณน้อยลง ประกอบกับกรมชลประทานลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้สถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำท่วมขังและระดับน้ำทรงตัวในบางอำเภอของจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ที่อยู่ต้นน้ำของลำน้ำมูล เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และต้นน้ำของลำน้ำชี เช่น ขอนแก่น ระดับน้ำเริ่มลดลงและอยู่ในภาวะ ทรงตัว
ส่วนจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำของลำน้ำมูลและชี มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอกมลาไสย ร่องดำ ฆ้องชัย) จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม กันทรวิชัย) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอจังหาร โพนทราย สุวรรณภูมิ หนองฮี) รวมถึงอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ) จึงขอเตือนให้ประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำมูลและชีของ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ในระยะนี้ โดยให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และอพยพไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัย พร้อมติดตามประกาศแจ้งเตือนภัย อย่างใกล้ชิด
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุม อ่าวไทยและภาคใต้ในช่วงนี้ ทำให้มีฝนตกหนัก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และหน้าดินพังถล่มลงมาได้ เนื่องจากดินอุ้มน้ำไว้มากแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ทางน้ำไหลผ่านและที่ลุ่มริมแม่น้ำใน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล ระนอง พังงา สงขลา และกระบี่ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัย หากมีฝนตกหนัก และพบสัญญาณความผิดปกติ ทางธรรมชาติให้รีบอพยพไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยทันที ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมกำชับมิสเตอร์เตือนภัยตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุผิดปกติ ให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้านอพยพหนีภัยตามแผนที่กำหนดโดยเร็ว สำหรับประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง