กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนรายได้จากการบริการและสาธารณูปโภคที่แน่นอน และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความผันผวนของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายธุรกิจสู่ตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย และภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบของภาครัฐ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินจะสามารถสร้างรายได้จากการขายที่ดินและจากบริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังคาดว่าการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมจะแล้วเสร็จและโอนให้แก่ลูกค้าได้โดยที่ต้นทุนไม่บานปลายและไม่ล่าช้าจนเกินไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษานโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อให้สามารถรองรับภาวะของตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ตกต่ำได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทนิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยกลุ่มตระกูลหอรุ่งเรือง ตระกูลศรีสมบูรณานนท์ และตระกูลอนันต์คูศรี ณ เดือนกันยายน 2549 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งที่ยังเหลืออยู่ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 16.4% ปัจจุบันบริษัทบริหารนิคมอุตสาหกรรมรวม 6 โครงการซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี โดยรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่บริษัทซื้อมาคือนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทที่เหลืออยู่ประมาณ 12,000 ไร่มีเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาในอนาคตเมื่อพิจารณาจากอัตราการขายที่ดินเฉลี่ยปีละ 600-700 ไร่ ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมแห่งแรกของบริษัทคือ “เดอะพาร์ค” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าโดยมียอดขายห้องชุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 จำนวน 182 ห้องหรือคิดเป็น 81% ของห้องชุดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างคอนโดมิเนียมดังกล่าวมีความล่าช้ากว่าแผนโดยมีความคืบหน้าเพียง 55% ทั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมโอนห้องชุดภายในครึ่งแรกของปี 2550
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายรวมของอุตสาหกรรม โดยบริษัทขายที่ดินได้ 293 ไร่ ซึ่งลดลง 43% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปี 2548 อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากถึง 712 ไร่ ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับยอดขายในปี 2548 และมียอดขายสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 จำนวน 604 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 24% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้ที่ได้จากการบริการและสาธารณูปโภคปีละ 600-700 ล้านบาทช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและแน่นอนซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รายได้จากการขายคอนโดมิเนียมเป็นรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็น 50% ของรายได้รวม ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มเป็น 27.4% ทั้งนี้ คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการโอนห้องชุดให้แก่ลูกค้าในปี 2550 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 30.6% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 31.8% ในปี 2548 และหนี้สินรวมอยู่ที่ 2,954 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ล่าสุดส่งผลกระทบต่อความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางถึงระยะยาว ภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังคงดีอยู่ ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทำเลที่ตั้งที่ดีของประเทศไทยยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ทว่าการเสนอปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมราคาแพงซึ่งส่วนใหญ่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ