กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--พพ.
กระทรวงพลังงาน แถลงผลสำเร็จบ้านรักษ์พลังงาน ต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภาคครัวเรือนทั่วประเทศ
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโครงการนำร่องส่งเสริมบ้านพักอาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ “บ้านรักษ์พลังงาน” ในความรับผิดชอบของ กรมพัฒนาพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในโอกาสเป็นประธานการสัมมนาสรุปโครงการฯและมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าของบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 ว่า เป็นโครงการที่มีส่วนอย่างสำคัญ ในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า ผลสำเร็จของโครงการนำร่องส่งเสริมบ้านพักอาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจและความพึงพอใจ ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการ จะทำให้ทุกครัวเรือนสามารถจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงบ้านเรือนของตัวเองให้อนุรักษ์พลังงานได้ด้วยตัวเองตามความเหมาะสมของแต่ละครัวเรือน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการสร้างบ้านใหม่ หากมีการสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ไม่เพียงแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับเจ้าของบ้านเอง แต่ยังมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย “ปัจจุบันประเทศไทยมีบ้านเรือนรวมกันกว่า 20 ล้านหลัง หากมีโครงการบ้านจัดสรรหรือเจ้าของบ้านสร้างบ้านประหยัดพลังงานรวมร้อยละ 5 หรือประมาณ 1 ล้านหลัง โดยแต่ละหลังมีการใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือน ประเทศจะสามารถประหยัดพลังงานของประเทศได้ไม่น้อยกว่า 600 ล้านหน่วยต่อปีหรือคิดเป็นเงิน 1,800 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมเงินลงทุนในการจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
ด้านนายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน( พพ.) ชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ว่า “โครงการนี้ มุ่งเน้นคุณภาพของผู้เข้าร่วมโครงการโดยเจ้าของบ้านทุกรายต้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทีมงานสถาปนิกและวิศวกร ในการเข้าไปสำรวจสภาพการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบสภาวะความเป็นอยู่อย่างละเอียดก่อนที่จะลงมือออกแบบการปรับปรุงบ้านพักอาศัย ทั้งนี้ พพ. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนในปรับปรุงบ้านพักอาศัยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกรายในอัตราร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนิต จินดาวณิค ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า “กระบวนการปรับปรุงบ้านเพื่อเป็นบ้านรักษ์พลังงาน ตั้งแต่ต้นจนจบ จะต้องใช้เวลาเฉลี่ยรายละ 8 — 10 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงานและมีสภาวะการอยู่สบายที่ดี โดยเจ้าของบ้านทุกรายที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงบ้านครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพอใจมาก”