กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มจับมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เปิดโครงการวิจัยยารักษาไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ พร้อมเชิญชวนผู้มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโครงการด้วยการบริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน
นักวิจัยระบุต้องใช้เวลาประมวลผลข้อมูลการค้นคว้าวิจัย 50,000 ปี แต่จะทำเสร็จได้ภายใน 1 ปีเท่านั้น ด้วย World Community Grid
ด้วยความมุ่งหวังที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลุกลามกลายเป็นโรคระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน ไอบีเอ็มจึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส และมหาวิทยาลัยชิคาโก ดำเนินโครงการค้นคว้าวิจัยยารักษาโรคที่จะช่วยรักษาหรือบำบัดอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อเวสต์ไนล์ (West Nile) และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไข้เหลือง และตับอักเสบ ซี ไข้เลือดออก ซึ่งพบในทวีปเอเชียและพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรเป็นหลัก และเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ซึ่งแพร่ระบาดในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป และเริ่มแพร่เข้าสู่สหรัฐฯ เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา และมักจะติดต่อสู่ผู้ใหญ่และเด็กโดยอาศัยยุงเป็นพาหะ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวหลายล้านคนและมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
โครงการความร่วมมือเพื่อคิดค้นยารักษาโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีชื่อว่า “Discovering Dengue Drugs — Together” จะใช้พลังการประมวลผลเพื่อการวิจัยของเครือข่าย World Community Grid ซึ่งมีพลังเทียบเท่ากับหนึ่งในห้าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลก โดย World Community Grid ประกอบด้วยเครือข่ายอาสาสมัครจำนวนมากที่ร่วมบริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ของตนเองในระหว่างที่ไม่ได้ใช้งาน ทั้งนี้เครือข่าย World Community Grid จะทำการคำนวณเพื่อค้นหาส่วนประกอบของโมเลกุลยาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อเวสต์ไนล์ โรคไข้เหลือง และโรคตับอักเสบ ซี โดยหลังจากที่ระบุส่วนประกอบยาที่เหมาะสมได้แล้ว นักวิจัยก็จะเริ่มการทดลองยาดังกล่าวเพื่อค้นหาว่ามีประสิทธิผลในการรักษามากน้อยเพียงใด
“ไข้เลือดออก เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์และเชื้อไวรัสอื่นๆ ในตระกูลนี้ เช่น ตับอักเสบ และไข้สมองอักเสบ ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงของโลก แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการค้นพบยาที่สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้” ศุภจี สุธรรมพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัย “Discovering Dengue Drugs — Together” ที่ไอบีเอ็มร่วมกับมหาวิทยาลัยเท็กซัสประกาศครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการวิจัยเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ดีขึ้น และสามารถพัฒนายารักษาโรคที่จะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคไข้เลือดออกเริ่มพบประปรายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 และเกิดการระบาดใหญ่ในเขตกรุงเทพ-ธนบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ตั้งแต่นั้นมาแนวโน้มของการระบาดมีสูงขึ้นมาโดยตลอด สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 18 สิงหาคม 2550 นี้ พบว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นถึง 36,082 ราย
นักวิจัยประเมินว่าโครงการนี้จะต้องใช้เวลาในการประมวลผลข้อมูลราว 50,000 ปี แต่ถ้านำมาทำบนเครือข่าย World Community Grid ก็จะสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น และถ้าหากมีอาสาสมัครที่ร่วมบริจาคพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถดำเนินการวิจัยได้รวดเร็วขึ้นตามไปด้วย
ดร. สแตน วาโทวิช หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า “หากไม่มีโครงการ World Community Grid เราจะต้องกำหนดสมมุติฐานเพิ่มมากขึ้นในการวิจัยและต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น World Community Grid ช่วยให้เราสามารถทำการคำนวณได้แม่นยำขึ้นอย่างมาก ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการค้นพบยาที่จะสามารถหยุดยั้งโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
โครงการระยะที่หนึ่งจะมุ่งเน้นการศึกษาโปรตีนที่ทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวน และจะนำเอารายชื่อโปรตีนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลโมเลกุลยาหกล้านโมเลกุล ซึ่งอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ส่วนโครงการระยะที่สองซึ่งยากกว่า จะเป็นการวิเคราะห์ว่าโมเลกุลยาตัวใดบ้างที่เกี่ยวพันกับโปรตีนนั้นๆ อย่างใกล้ชิด และมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสอย่างแท้จริง จากนั้นนักวิจัยก็จะได้รับรายการโมเลกุลยาหลายสิบโมเลกุลที่สามารถนำไปทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นขั้นตอนถัดไปของการคิดค้นยาชนิดใหม่
“ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จะสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ เพียงแค่บริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน เราทุกคนก็จะสามารถช่วยให้ทีมงานของโครงการนี้คิดค้นยาได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น หากอาสาสมัคร 100,000 คนลงทะเบียนภายในช่วงสัปดาห์แรกของโครงการ ก็จะลดระยะเวลาที่ใช้ในการคำนวณให้เสร็จสิ้นได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์” ศุภจีกล่าว
ผู้สนใจที่ต้องการบริจาคช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ให้แก่โครงการนี้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.worldcommunitygrid.org และติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่แจกฟรีลงบนคอมพิวเตอร์ของตนเอง เมื่อคอมพิวเตอร์อยู่ในโหมดว่าง (Idle) เช่น ระหว่างที่ผู้ใช้พักรับประทานอาหารกลางวัน คอมพิวเตอร์ก็จะร้องขอข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของ World Community Grid จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะทำการประมวลผลโดยใช้ข้อมูลดังกล่าว แล้วส่งผลลัพธ์กลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ และรับงานชุดใหม่ต่อไป โปรแกรมรักษาหน้าจอ (Screen Saver) จะแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าคอมพิวเตอร์กำลังถูกใช้งาน
World Community Grid เป็นระบบกริดสาธารณะเพื่อมนุษยธรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีสมาชิกมากกว่า 315,000 ราย และครอบคลุมอุปกรณ์มากกว่า 700,000 เครื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีอุปกรณ์ราว 1,000 ล้านเครื่องที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีโครงการที่รันบนเครือข่าย World Community Grid ทั้งสิ้น 7 โครงการ รวมถึง FightAIDS@Home ซึ่งดำเนินงานวิจัย 5 ปีเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้เสร็จสิ้นภายในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรองรับโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซท์ www.ibm.com
แผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ โทร. 02 2734306 email:chujit@th.ibm.com