กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สวรส.
นักวิจัยเผยสาเหตุการเป็นเกย์และกะเทยส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา นอกนั้นคือสิ่งแวดล้อม สังคมและการเลี้ยงดูในครอบครัว สำรวจพบเกย์-กะเทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด สับสน วิตกกังวล กลัวถูกสังคมรังเกียจตั้งแต่วัยเด็ก พบสถิติเกย์และกะเทยในสำนักงานสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ธุรกิจส่วนตัว สถานเสริมความงาม ร้านอาหาร วอนสังคมไทยมองเพศที่ 3 อย่างเข้าใจและยอมรับมากขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุพร เกิดสว่าง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่ยังมีความสับสนเรื่องผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน หรือผู้ชายที่มีกิริยามารยาทคล้ายผู้หญิง นอกจากคนในสังคมจะสับสนและไม่เข้าใจแล้วยังมองบุคคลเหล่านี้ไปในทางลบ ทั้งนี้อยากทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ชายมีหลักๆ สามกลุ่มคือ (1) กลุ่มผู้ชายที่รักผู้หญิง (เพศตรงข้าม-ต่างเพศ) ซึ่งสังคมทั่วไปยอมรับ (2) กลุ่มผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แค่รักผู้ชายด้วยกัน (เพศเดียวกัน-ร่วมเพศ) ซึ่งมักนิยามตัวเองว่า เกย์ (Gay) มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า สดใส ร่าเริง และ (3) ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิงที่อยู่ในร่างของผู้ชายนั่นเอง คำไทยมักใช้คำว่า “กะเทย” (transgender หรือ transsexual)
จากการศึกษาพบว่าการที่ผู้ชายมีความรักเพศเดียวกัน มีสาเหตุหลายอย่างทั้งปัจจัยทางชีววิทยา และจิตวิทยา เริ่มตั้งแต่สาเหตุทางพันธุกรรม การพัฒนาของสมองเด็กในครรภ์ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์การเรียนรู้หลังจากที่เกิดมาแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบ และไม่ติดต่อกัน
ทั้งเกย์ และกะเทย จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองต่างจากเพื่อนเพศเดียวกัน ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ หรือเมื่อเริ่มจำความได้ โดยจะจดจำว่าพ่อแม่ตักเตือนอยู่เสมอว่าอย่าทำตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกกดดันภายในจิตใจ ในด้านพฤติกรรมจะมีความรู้สึกอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย กิริยามารยาทคล้ายเด็กหญิง ชอบแต่งตัว ชอบเล่นกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง ไม่ชอบเล่นรุนแรง เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน แตกต่างจากเพื่อนผู้ชายทั่วไป เนื่องจากเด็กรับรู้ว่าสังคมทั่วไปมีความรู้สึกรังเกียจเกย์และกะเทย เด็กจึงสับสนไม่แน่ใจ ในการวางตัวในสังคม เกิดความวิตกกังวล ความเครียด พยายามปิดบังความรู้สึกของตนเอง บางคนพยายามป้องกันตนเอง โดยพยายามทำตัวเป็นชายชาตรี เช่น พยายามมีคนรักเป็นผู้หญิงหลายๆ คน เพาะกายให้ดูเป็น ‘แมน’ แสดงตนก้าวร้าว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่เด็กบางคนก็พยายามหาสิ่งทดแทนความด้อย เช่น พยายามขยันตั้งใจเรียน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อน ฯลฯ ซึ่งเป็นการทดแทนที่ดี ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจเด็กจะยิ่งมีความทุกข์ทรมานใจมากขึ้น บางคนมาปรึกษาแพทย์เพื่อขอฉีดฮอร์โมนเพศชาย โดยหวังว่าฮอร์โมนเพศชายจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกและความต้องการในใจ ซึ่งในความเป็นจริงฮอร์โมนเหล่านี้ไม่ได้มีผลดังที่หวังเลย
ระยะสับสนกังวลนี้อาจจะกินเวลานานมากหรือน้อย แล้วแต่ตัวเด็กแต่ละคน เมื่อผ่านระยะนี้ไปเด็กจะเริ่มยอมรับความรู้สึกและความต้องการทางเพศของตนเองมากขึ้น ความเครียด ความวิตกกังวลจะลดลง ในขั้นต่อไปอาจพัฒนาถึงขั้นเปิดเผยตนเองต่อสังคม และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุพร กล่าวต่อว่าปัจจุบันสังคมไทยยอมรับเกย์และกะเทยมากขึ้นกว่าในหลายประเทศ แต่คนบางกลุ่มก็ยังรู้สึกและมองเกย์ และกะเทยในแง่ลบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพของเกย์และกะเทยที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ มักออกมาในเชิงลบ เป็นตัวตลกบ้าๆ บอๆ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง โหดเหี้ยม ฯลฯ ซึ่งความจริงเกย์ และกะเทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคมก็มีอยู่มาก
นอกจากนี้ผลจากการศึกษากลุ่มชายรักชาย 100 คน ซึ่งเป็นเกย์ 95 คน เป็นกะเทย 5 คน พบว่า 40 คน ทำงานเป็นลูกจ้างในสำนักงาน รองลงมาคือ ธุรกิจส่วนตัว สถานเสริมความงาม ร้านอาหาร ร้องเพลง ครูเต้นรำ นาฎศิลป์ และพิธีกร ตามลำดับ ในจำนวนนี้ 61 คน มีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับผู้ชาย และ จำนวน 34 คน มีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับหญิง ผู้เข้ารับการสำรวจยังบอกว่ามีประสบการณ์ทางเพศหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกส่วนใหญ่เนื่องจากความรัก หรือความต้องการทางเพศ และอีก 5 คนยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
ในด้านชีวิตการแต่งงานพบว่า 88 คน ยังเป็นโสดหรือมีคู่เป็นผู้ชาย และอีก 12 คน เคยแต่งงานกับหญิง ในจำนวนทั้งหมดนี้ 4 คน หย่ากับภรรยาแล้วเพราะ ‘เข้ากันไม่ได้’ อีก 2 คน หย่ากับภรรยาทั้งที่ครอบครัวมีความสุขพอควร แต่ยอมเสียสละให้ภรรยาได้มีโอกาสมีสามีที่เป็นชายเต็มตัว และอีก 1 คน กำลังจะหย่ากับภรรยา เพราะพบแฟนเป็นชายที่ให้ความสุขได้มากกว่าภรรยา ส่วนอีก 5 คน ยังอยู่กับภรรยาและครอบครัว อย่างมีความสุข จากการสำรวจพบข้อสังเกตว่าโอกาสล้มเหลวของเกย์ที่แต่งงานกับผู้หญิงมีค่อนข้างมาก แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจช่วยให้ชีวิตแต่งงานประสบความสำเร็จ คือ รสนิยมทางเพศต้องเอียงไปทางชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือแต่งงานกันด้วยความรักและความเข้าใจ มีความซื่อสัตย์มั่นคงไม่นอกใจภรรยา มีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว รวมทั้งภรรยามีความเข้าใจ ยอมรับ และให้อภัยด้วย
ในเรื่องของความเสี่ยงต่อโรคเอดส์ พบว่ามี 69 คนที่ตรวจเลือดหาโรคเอดส์ มีผลการตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อเอดส์ HIV) 5 ราย หรือ 7.6% ซึ่งนับว่าสูงกว่าประชากรทั่วไป สำหรับเรื่องของการป้องกันหรือการดูแลสุขภาพร่างกายหลังจากติดเชื้อแล้วทางหน่วยงานที่มีส่วนในการรับผิดชอบควรมีมาตรการช่วยเหลือให้มากขึ้น
สำหรับชายใจหญิงหรือกะเทยหลายคนที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมือนผู้หญิงให้มากที่สุดเลือกที่จะขอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งในประเทศไทยมีศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้และยังมีฝีมือเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกหลายท่าน นอกจากคนไทยที่ขอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้วยังมีคนไข้จากประเทศอื่นๆ อาทิ แคนาดา อเมริกา อังกฤษ สวีเดน บราซิล ฯลฯ การผ่าตัดแปลงเพศต้องผ่านขั้นตอนและกฎเกณฑ์ต่างๆ หลายอย่าง เพราะเมื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนเป็นเพศหญิงแล้วจะเปลี่ยนกลับมาเป็นเพศชายที่สมบูรณ์อีกไม่ได้ง่ายๆ โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องมีอายุ 20-65 ปี ผ่านการทดสอบโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ผ่านการตรวจจากแพทย์ทางต่อมไร้ท่อ การให้คำปรึกษาความพร้อมทางด้านจิตใจ เป็นต้น แพทย์ไทยที่ทำงานด้านนี้ต้องใช้ความประณีตมาก เนื่องจากเป็นทั้งงานผ่าตัดและงานศิลปะ ในการเปลี่ยนอวัยวะเพศชายให้เป็นหญิง และร่วมเพศได้เช่นเดียวกับหญิงทั่วไป ผู้ที่ขอเข้ารับการผ่าตัดส่วนหนึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเรื่องความสุขทางเพศ แต่มีจุดมุ่งหมายอยากจะเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ หลายคนยืนยันชัดเจนว่า ความปรารถนาสูงสุดคือ อยากตายในสภาพที่เป็นหญิง
สำหรับผู้ชายไทยหรือกลุ่มคนเอเซียจะมีรูปหน้าไม่ต่างกับผู้หญิงมากนัก จึงไม่ต้องทำการผ่าตัดแปลงรูปหน้าให้มาก แต่ถ้าเป็นฝรั่งหรือคนต่างชาติ รูปหน้าดั้งเดิมจะมีความแตกต่างจากผู้หญิง จึงต้องมีการผ่าตัดแปลงรูปหน้าให้เป็นผู้หญิงด้วย (facial feminization) ในปัจจุบันการผ่าตัดแปลงเพศได้พัฒนาไปอย่างมาก ซึ่งอาการแทรกซ้อนในขณะที่ผ่าตัดและหลังผ่าตัดมีน้อยมาก แต่หลังการผ่าตัดไปแล้วทุกคนยังต้องติดต่อกับแพทย์ และให้ฮอร์โมนเสริมหลังการผ่าตัดด้วย
อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก เกย์และกะเทยหลายคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว และประเทศเราเป็นอย่างมาก แนวทางการดำเนินชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป และหวังว่าสังคมไทยจะเข้าใจเกย์และกะเทยมากขึ้น และควรมีที่ให้กับบุคคลเหล่านี้ได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับคนทั่วไป
ติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)