กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--สวทช.
ในช่วงใกล้เทศกาลลอยกระทง เรามักจะได้ยินข่าวการระเบิดของโรงงานทำพลุ และอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด เป็นประจำทุกปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ด.ช.นฤนาท อินต๊ะใจ อายุ 11 ปี จาก ต.ร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ได้รับบาดเจ็บนิ้วขาด ตาขวาบอดสนิท และมีแผลจากการถูกสะเก็ดระเบิดเต็มตัว จากการซื้อประทัดมาจุดเล่น ด้วยการใส่ประทัดในขวดน้ำ และใช้ถังน้ำครอบไว้ จึงทำให้เกิดการระเบิดรุนแรง
รศ.สุชาตา ชินะจิตร อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และที่ปรึกษาวิชาการฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี กล่าวว่า พลุและดอกไม้ไฟ มีสารที่เป็นวัตถุระเบิดอันตราย ฉะนั้นทั้งผู้ขายและผู้เล่นต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงโอกาสเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ขณะเดียวกันผู้ผลิตเองต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญ เพราะในช่วงนี้มักจะมีผู้ลักลอกทำพลุขายเองในย่านชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงหลายครั้ง
“พลุและดอกไม้ไฟ ถือเป็นวัตถุระเบิดอันตราย มีส่วนประกอบพื้นฐานอยู่ 6 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ 1.เชื้อเพลิง คือ ดินปืน 2.สารที่ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ หรือ สารออกซิไดซ์ (oxidizer) สารเคมีที่ใช้จะเป็นพวกไนเทรตคลอเรต หรือ เปอร์คลอเรต เช่น แอมโมเนียม เปอร์คลอเรต (Ammonium perchlorate) แบเรียม ไนเทรต (barium nitrate) สตรอนเทียม ไนเทรต (strontium nitrate) เป็นต้น 3.สารที่ทำหน้าที่เผาไหม้ออกซิเจน ที่สารออกซิไดซ์ปลดปล่อยออกมา เพื่อให้เกิดก๊าซร้อน คือ ซัลเฟอร์และดินปืน ซึ่งเมื่อเผาไหม้จะให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(Sulphur dioxide : SO2)และคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide: CO2) 4.สารที่ทำให้เกิดแสง คือ พวกโลหะ เช่น แมกนีเซียม (Magnesium : Mg) เมื่อเผาไหม้จะทำให้เกิดความสว่างจ้า 5.สารที่ทำให้เกิดสี ตัวอย่างเช่น สตรอนเทียม (Strontium :Sr) ให้สีแดง ทองแดง (Copper:Cu) ให้สีน้ำเงิน แบเรียม (Barium:Ba) ให้สีเขียว โซเดียม (Sodium — Natrium :Na) ให้สีเหลืองและส้ม และแคลเซียม (Calcium :Ca) ให้สีส้ม เป็นต้น 6.ตัวประสาน ทำหน้าที่ยึดส่วนผสมต่าง ๆ ให้เกาะติดกัน สารที่นิยมใช้ได้แก่ เด็กทริน (Dextrin) นอกจากนี้ยังมีสารที่มีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่นพลวง (Antimony : Sb) ทำให้มีแสงแวววาวระยิบระยับ สังกะสี (Zinc : Zn) ทำให้เกิดควัน ไทเทเนียม (Titanium :Ti)ให้ประกายสีเงิน เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อต้องมีการเกี่ยวข้องกับ พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ วัตถุอันตรายที่ระเบิดได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ การขาย หรือตัวผู้เล่นเอง สิ่งที่พึงระวังอย่างยิ่งก็คือ ความร้อน การเสียดสี และการใช้ประกายไฟในบริเวณที่มีวัตถุระเบิด เพราะสามสิ่งนี้เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงดังเช่นที่ผ่านมา อาทิ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ร้านขายพลุที่ตลาดมหาชัย จุดประทัดสาธิตให้ลูกค้า แต่เกิดความตกใจจึงโยนประทัดลงไปที่แผงขาย ทำให้เกิดการระเบิดรุนแรงมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 84 ราย
14 สิงหาคม 2549 รถบรรทุกดอกไม้ไฟระเบิดรุนแรงที่ถนนสะเดา — ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา สาเหตุเพราะระหว่างขนถ่ายสินค้า ได้เกิดประกายไฟจากตู้คอนเทนเนอร์
17 พฤศจิกายน 2552 เกิดเหตุพลุระเบิดในห้องแถวจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากมีผู้ลักลอบทำพลุกักตุนไว้จำหน่ายช่วงปีใหม่ แต่เนื่องจากเกิดความร้อนภายในห้องพัก อีกทั้งมีพลุจำนวนมาก ทำให้เกิดระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บ 24 ราย เป็นต้น” รศ.สุชาตา กล่าวและว่า อย่างไรก็ดีในช่วงใกล้เทศกาลลอยกระทงเช่นนี้ บ่อยครั้งที่มักจะเห็นร้านขายพลุใกล้บริเวณโรงเรียน จึงอยากให้คุณครูและผู้ปกครองช่วยกันสอดส่อง ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแอบซื้อไปเล่นเองโดยลำพัง ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า โดยปกติแล้วพลุและดอกไม้ไฟไม่ใช่ของเล่นอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิด หากผู้ขายไม่มีใบอนุญาตที่ชัดเจนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีสถิติของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นพลุดอกไม้ไฟเมื่อ 4-5 ก่อน พบว่า ร้อยละ 44 ของผู้บาดเจ็บ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมดพบว่า 3 เท่าเป็นเด็กผู้ชาย ทั้งนี้สาเหตุที่เกิดการบาดเจ็บมาจากการจุดเล่น เนื่องจากเล่นผิดวิธี เช่น มีการดัดแปลงเล่นจุดประทัดใส่ขวดแก้ว การโยนใส่กลุ่มเพื่อน การจุดไม่ติดแล้วจุดซ้ำทำให้เกิดระเบิดและได้รับบาดเจ็บ
รศ.นพ. อดิศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นแล้วการจัดเก็บวัตถุไวไฟยังต้องมีสถานที่เก็บที่เป็นมาตรฐาน ตามใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในส่วนของร้านค้าที่รับพลุดอกไม้ไฟมาจำหน่ายเองในชุมชนนั้น ถือว่าผิดกฎหมายและเป็นอันตรายกับบ้านข้างเคียง เพราะอาจเกิดประกายไฟลุกลามขึ้นสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนในชุมชนได้ โดยเฉพาะหากมีการตั้งขายใกล้กับร้านค้าที่มีแก๊สหุงต้มหรือวัตถุอันตรายติดไฟง่าย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดียังมีสถิติที่น่าเป็นห่วงด้วยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทงต่อเนื่องถึงหลังวันลอยกระทงหนึ่งวัน จะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 13-14 คน ขณะที่วันปกติซึ่งไม่มีเทศกาลใดๆ จะมีสถิติเด็กจมน้ำเฉลี่ย 4 คนต่อวันเท่านั้น
ขณะเดียวกัน พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานระบาดวิทยาโรคไม่ติดต่อ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เปิดเผยข้อมูลการเก็บสถิติ การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว หรือ สะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ ปี พ.ศ. 2551 — 2552และปัญหาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ จากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ ทั้ง 28 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดและกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ว่า ผู้บาดเจ็บรุนแรงจากเปลว หรือ สะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ ปี พ.ศ. 2551 ในเดือนพฤศจิกายน มีจำนวน 88 ราย คิดเป็น ร้อยละ 20.6 ของผู้บาดเจ็บทั้งปี โดยวันลอยกระทงเพียงวันเดียวมีผู้บาดเจ็บ 37 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.05 ของผู้บาดเจ็บจากสาเหตุนี้ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่สัดส่วนผู้บาดเจ็บจากสาเหตุนี้ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ร้อยละ 24.3 โดย ร้อยละ 11.1 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
ส่วนในปี พ.ศ. 2552 ในเดือนพฤศจิกายน มีผู้บาดเจ็บจำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.95 ของผู้บาดเจ็บทั้งปี ไม่มีผู้เสียชีวิต ในวันลอยกระทงมีจำนวนผู้บาดเจ็บ 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้บาดเจ็บจากสาเหตุนี้ในเดือนพฤศจิกายน และสัดส่วนผู้บาดเจ็บมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมในวันลอย
กระทงสูงถึง ร้อยละ 58.1 ซึ่งสูงกว่าวันลอยกระทง ปีพ.ศ. 2551 ถึงสองเท่าตัว อย่างไรก็ดีแม้การจุดเทียนเล่นไฟจะเป็นหนึ่งในการละเล่นในเทศกาลลอยกระทงที่มีมายาวนาน แต่ก็ควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะพลุ ดอกไม้ไฟเป็นวัตถุอันตราย โดยเฉพาะเยาวชน ที่ควรห้ามไม่ให้จุดดอกไม้ไฟ หรือ พลุเองอย่างเด็ดขาด ควรเล่นพลุในสถานที่มีการจัดเตรียมไว้ ไม่ควรเล่นในแหล่งชุมชน หรือในเรือ ที่สำคัญไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัน เป็นเหตุให้ขาดสติ และขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้อย่าให้เด็กอยู่ใกล้น้ำโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล เพื่อลดอุบัติเหตุเด็กตกน้ำและจมน้ำ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมีได้ที่ http://www.chemtrack.org/
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมงานวิจัยและการเก็บสถิติการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว หรือ สะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ ปี พ.ศ. 2551 — 2552 ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขได้ที่
http://epid.moph.go.th/ หัวข้อ Weekly Epidemiology Surveillance Report