กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ก.ไอซีที
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้มอบนโยบายให้กระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดไปวางแผนการดำเนินงานโครงการต่างๆ ซึ่งผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานได้มารายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน และโดยภาพรวมแล้วโครงการต่างๆ มีความคืบหน้าไปพอสมควรกว่า 70%
“สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่ได้มีการรายงานความคืบหน้านั้น ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากสภาฯ ให้ดำเนินการเพิ่ม รวมทั้งจะมีการขยายการให้บริการโดยเพิ่มเติมเทคโนโลยีในส่วนของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เข้าไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์มือสองเพื่อนำมาอัพเกรดแล้วนำไปมอบให้ชุมชนที่ด้อยโอกาส และโรงเรียนห่างไกล เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ของ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยดำเนินการเรื่องการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถดำเนินการได้ในส่วนหนึ่ง” นายจุติ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเตือนภัยด้านแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และดินถล่ม ทำให้ไม่มีเทคโนโลยีที่จะใช้ในการเตือนภัยเกี่ยวกับวาตภัย อุทกภัยหรือน้ำท่วม การดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา ดังนั้น กรมอุตุฯ จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเริ่มจากการเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาที่ทันสมัยขึ้นมาทดแทนบุคลากรเดิม พร้อมกันนี้ยังจะมีการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมอุตุฯ ศูนย์เตือนภัยฯ และสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เพื่อนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการเตือนภัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันค่อนข้างล้าสมัยและมีอายุกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตาม การที่จะซื้อเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานแทนนั้น จะสั่งซื้อเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น และจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับกับงบประมาณที่จะต้องจ่ายไป รวมทั้งต้องพิจารณาศักยภาพของบุคลากรด้วยว่าจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพไ
ด้หรือไม่ และต้องพิจารณาความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้วย หากสามารถป้องกันความเสียหายได้ก็ถือว่าคุ้มค่า
“ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการประเมินดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยในภาพรวม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศและเพิ่มอัตราการมีงานทำให้ประชาชนได้ โดยนเบื้องต้นจะมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ขึ้นมา และจะเน้นการประเมินในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร การเข้าถึงข่าวสาร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมจัดทำผลงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อเสนอรัฐสภาภายในสิ้นปีด้วย
และสาระสำคัญที่ได้หารือกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติไปสู่แผนการปฏิบัติภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งนอกจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะไปจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อใช้ของบประมาณปี 54 แล้ว ในส่วนของกระทรวงไอซีที จะมีการปรับเพิ่มบทบาทของคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติให้ครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติงานตามนโยบาย นอกจากนี้ยังจะผลักดันให้มีการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ร่วมกันของทุกรัฐวิสาหกิจทั้ง ทีโอที กสทฯ การไฟฟ้าฯ การรถไฟฯ ปตท. และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำมาใช้งานในเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN ซึ่งในการพัฒนาระบบ GIN นั้น กระทรวงฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการทั้งประสิทธิภาพของเครือข่าย ความเร็วในการให้บริการ ระยะเวลาในการกู้ระบบหากระบบล้มเหลว โดยแต่ละหน่วยงานที่ใช้ระบบ GIN จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติงาน การให้บริการของหน่วยงานผ่านระบบ GIN เป็นระยะๆ ออกมา เพื่อใช้ในการผลักดันการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ” นายจุติ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการหารือในเรื่องการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทุกราย เพื่อให้มีการใช้งานโครงข่ายร่วมกันทั้งเสารับ — ส่งสัญญาณประมาณ 30,000 เสา และเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติกภายในสิ้นปี ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการให้กับภาคเอกชน และส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการที่ถูกลงด้วย ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายในสิ้นปีนี้ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานไปวางแผนขั้นตอนการบริหารงาน การร่างกฎระเบียบ การให้บริการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน
“ในการปฏิบัติงาน 5 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือ การผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้สามารถผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ กับนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันทุกฝ่ายก็ให้การตอบรับกับนโยบายบรอดแบนด์ฯ นี้เช่นกัน ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมหาศาล แต่ในการดำเนินการนั้นจะไม่เร่งผลักดันในลักษณะของการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อลงทุนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะโครงข่าย จะผลักดันให้เกิดการใช้งานร่วมในโครงข่ายเดิมที่มีอยู่เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และผลงานที่ภูมิใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดตั้งองค์การ ทั้งสองแห่งให้แล้วเสร็จได้หลังจากที่รอมานานถึง 8 ปี” นายจุติ กล่าว