“วนเกษตร” อีกหนึ่งทางออกของปัญหา “คนกับช้าง”

ข่าวทั่วไป Friday February 16, 2007 18:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สกว.
เมื่อ “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ และมีพละกำลังมหาศาล พากันออกจากป่ามาหาอาหารในที่ทำกิน และถิ่นอาศัยของมนุษย์ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ธรรมดา... ช้างตัวหนึ่ง ต้องการอาหารมากถึงวันละ 150-200 กิโลกรัม และต้องการน้ำประมาณ 150 - 200 ลิตร ที่สำคัญคือ ช้างที่ออกมาจากป่า มักจะไม่ได้มาเพียงตัวเดียว อย่างน้อยที่สุดต้องมี 2-3 ตัว ขึ้นไป และมากที่สุดเท่าที่ชาวบ้านเคยประสบคือ 50 ตัว...
“เจอช้างลุยครั้งหนึ่ง ก็เท่ากับว่าที่ลงทุน ลงแรงไปทั้งปีไม่เหลือแล้ว...” ประหยัด แก้วกัณฑ์ หัวหน้าโครงการวิจัย แนวทางลดผลกระทบจากช้างกินพืชไร่ อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สะท้อนภาพความเดือดร้อนที่ชาวบ้านประสบ...
ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าตะวันตก และตะวันออก ต้องเผชิญกับปัญหาช้างป่าออกมากินพืชไร่กันอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่า แนวโน้มของปัญหาทวีขึ้นไปอีก
ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง สำนักงานอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงเหตุปัจจัยแห่งปัญหานี้ว่า...
“ประชากรช้างป่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น ประมาณ 10% ต่อปี ในขณะที่พื้นที่ป่ามีจำกัด ฉะนั้นพืชอาหาร และแหล่งน้ำในป่าอาจจะไม่เพียงพอ ประกอบกับปัจจุบันเรามีการอนุรักษ์ช้าง เมื่อเขาออกมานอกจากจะมีพืชอาหารให้เขากินมากมายแล้ว เขาก็ยังปลอดภัยอีกด้วย ฉะนั้นช้างป่ารุ่นใหม่จึงไม่ค่อยกลัวคน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ช้างออกมาหากินนอกป่ามากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น...”
แต่ “การรับมือ” กับสัตว์ขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน...ในเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายชุมชนผู้ประสบปัญหาช้างกินพืชไร่ในภาพตะวันตก และภาคตะวันออก ทำให้ทราบว่า ที่ผ่านมาวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนจะมุ่งเน้นไปที่การ “ไล่ช้าง” มิให้ช้างเหยียบย่างเข้ามาภายในไร่ หรือเข้ามาให้น้อยที่สุด...ด้วยการใช้อุปกรณ์ง่ายๆ เช่น ตีเกราะ เคาะไม้ เคาะปี๊บ จากนั้นก็ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ให้ทั้ง แสง สี เสียง เช่น ประทัด พลุ หรือวัตถุประดิษฐ์ที่มีเสียงดังคล้ายระเบิด การใช้สปอร์ตไลท์ส่อง การใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า รวมไปถึงการใช้ลวดไฟฟ้าแรงต่ำกั้นเป็นรั้ว เป็นต้น แต่วิธีการเหล่านี้เครือข่ายชุมชนผู้ประสบปัญหาช้างกินพืชไร่ในภาพตะวันตก และภาคตะวันออก ได้ร่วมกันสรุปว่า แต่ละ “ใช้ได้ผล” เฉพาะในระยะสั้นเท่านั้น เพราะช้างฉลาด เรียนรู้ และปรับตัวเร็วมาก…
“แรกๆ ท่านจะมากันอย่างเปิดเผย มาเป็นกลุ่มใหญ่ หลังๆ จะแยกกันมา มาแบบเงียบๆ แยกเป็นกลุ่มย่อย...”
“...เขาฉลาด เวลาจะเข้าไร่ บางทีเขาจะมาแอบซุ่มอยู่ก่อน รอจนเห็นว่า คนไม่อยู่แล้ว หรือ นอนแล้ว ถึงจะเข้า...ถ้าเขาเข้ามาได้แล้ว เราเห็นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไล่เขาก็ไม่ไป...”
“... อย่างจุดพลุ จุดประทัด ครั้งแรก ก็อาจจะหยุด และหนีไป แต่พอครั้งที่สองหยุดดู แต่ไม่หนี ครั้งต่อๆ ไปสนแล้ว เดินหน้าอย่างเดียว ขนาดมีการจุดที่ใกล้ๆ เท้า เขาก็ไม่สน...”
“ลวดไฟฟ้า ก็ป้องกันได้สอง สามครั้งเท่านั้น บางทีก็ให้ลูกนำหน้ามาถึงก็เตะลูกเข้าไส่ลวดแล้วดันให้ขาด บางทีก็ใช้วิธีล้มต้นไม้ลงมาทับ...”
“... บางทีมาถึงเตะแบตเตอรี่ก่อนเลย เตะเล่นเป็นลูกฟุตบอลเลย...”
ตัวแทนชุมชนร่วมกันสะท้อน...พร้อมกับนำเสนอว่า เมื่อการใช้ แสง สี เสียง และความรุนแรงขับไล่ ไม่ได้ค่อยได้ผล ชาวบ้านบางกลุ่ม พยายามคิดหาวิธีใหม่ ด้วยวิธีการที่นุ่มนวลขึ้น อาทิ การทำหุ่นไล่ช้าง การเปิดวิทยุให้ฟัง การจัดทำแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารไว้ใกล้ๆ ชายป่า
“หุ่นไล่ช้าง นี่ไม่ควรทำ เพราะที่เคยทำพอเขามาใกล้จะฉีกทิ้งเลย อาจจะทำให้เขาเข้าใจผิดคิดว่า คนกับ หุ่น คือ อันเดียวกัน เดี๋ยวจะเป็นอันตรายกับคนจริง...แต่เปิดวิทยุให้ฟังนี่ใช้ได้ เขาจะมาหยุดฟังๆ แต่ไม่เข้ามาใกล้...”
“...แหล่งน้ำ และแหล่งอาหาร ไม่ได้ผล ตอนเราทำคิดว่า ถ้าเขามากินอิ่มแล้วจะได้กลับเข้าป่า แต่ปรากฏว่า เขาชอบ ยกพวกมาอยู่กันเลยเป็นการถาวร มาอยู่ใกล้กับหมู่บ้านมากกว่าเดิมอีก...”
และด้วยเหตุที่วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถสกัดกั้นช้างได้ จึงมีชาวบ้านบางคน เลือกใช้วิธีจัดการช้างด้วยวิธีที่ “รุนแรง” เช่น การช็อตด้วยไฟฟ้าแรงสูง หรือใช้อาวุธทำร้ายช้างจนเสียชีวิต
แต่การทำร้ายช้างถึงตายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะสำหรับคนไทย ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้าน-คู่เมือง และการฆ่าช้างถือเป็นการทำผิดกฎหมายที่รุนแรง มากไปกว่านั้นชาวบ้านต่างเห็นว่า วิธีการดังกล่าวยังอาจจะทำให้สถานการณ์ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น
“มีชาวบ้านต่อไฟแรงสูงกับรั้วลวดหนามช็อตช้างตายไปตัวหนึ่ง..คืนนั้นช้างเกือบ 20 ตัวลงมาล้อมบ้าน อาละวาดจนบ้านพัง คนที่อยู่ก็อยู่ไม่ได้...”
“การใช้วิธีรุนแรงกับช้าง จะทำให้ช้างตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่น ช้างที่เคยถูกชาวบ้านยิง พอเห็นคนถือปืนจะเข้าชาร์จเลย เป็นสัญชาติญาณในการป้องกันตัว...”
ชาวบ้านหยิบยกสถานการณ์ที่พวกเขาเคยประสบมาสนับสนุน
เมื่อวิธีการขับไล่ช้างออกไปจากถิ่นที่อยู่-ที่ทำกินไม่ได้ผล แล้วปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไร?
“วนเกษตร” เป็นหนึ่งในทางออก ที่ทีมวิจัย โครงการแก้ปัญหาช้างกินพืชไร่ฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน นำเสนอ
“จะสังเกตเห็นได้ว่า พืชที่ช้างลงมากิน คือ พืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ๆ เพื่อขาย ไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด ในขณะเดียวกัน เราพบว่าในแปลงที่มีการปลูกยางพารา หรือในแปลงที่มีการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด ช้างจะไม่ค่อยเข้าไปรบกวน ซึ่งพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ท่านเห็นว่า ระบบการผลิตแบบวนเกษตร ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน จะช่วยแก้ปัญหาช้างกินพืชไร่ได้...” ธวัช เกียรติเสรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่2 เผยถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง
การดำเนินงานวิจัยครั้งนี้มีชาวบ้านรอบผืนป่าตะวันตกประมาณ ว่า 30 ครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ โดยในเบื้องต้นได้ช่วยกันเก็บข้อมูลว่า พืชชนิดใดที่ช้างไม่ชอบกิน แต่คนกินได้ และมีพืชนิดใดบ้างที่ทนต่อการถูกเหยียบย่ำ ซึ่งพบว่ามีผักพื้นบ้านหลายชนิดด้วยกัน เช่น ชะอม ผักสาบ ผักติ้ว และผักหวาน เป็นต้น เมื่อได้ชนิดผักมาแล้ว จึงให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกันพื้นที่ทำกินซึ่งอยู่ติดกับแนวป่าส่วนหนึ่งปลูกพืชผักเหล่านี้ พร้อมกับไม้เศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในระยะยาว เช่น ยางนา ตะเคียน สะเดา มะค่า มะฮอกกานี ซึ่งจากการติดตามประเมินผลที่ผ่านมาก็พบว่า การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเช่นนี้ช่วยลดปัญหาการเข้ามากินพืชไร่ได้
ช้างไม่ใช่ปัญหา แต่เราต่างหากที่เป็นปัญหา เรามีปัญหาเรื่องผลผลิตซึ่งไม่เคยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเราแท้จริง ผมทำไร่มันสำปะหลัง ยิ่งทำยิ่งขาดทุน ก่อนที่จะมาทำวนเกษตร มีหนี้ประมาณ 6-7 แสนบาท ไม่ต้องมีช้างมากิน เราก็ไม่พอกินอยู่แล้ว พอปรับเปลี่ยนมาทำวนเกษตร ภายใน 4 ปี ผมก็ปลดหนี้ได้ ทุกวันนี้ ช้างก็ยังลงมาปีละ 5-6 ครั้งเหมือนเดิม แต่เขาไม่เข้ามากินพืชในไร่ผม 2-3 ปี มานี้เคยเข้ามาครั้งหนึ่งมากินแต่น้ำในตุ่ม กินแล้วก็ไป....” วัฒนา คำรักเกียรติเจริญ เกษตรกรจากชุมชนพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ยืนยันถึงผลที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ กัญญา คชิตา เยาวชนคนรุ่นใหม่จากชุมชนเดียวกันเล่าเสริมว่า เดิมครอบครัวของเธอทำสวนผลไม้ ซึ่งช้างจะเข้ามากินกล้วย มังคุด ขนุน มะพร้าว กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2540ปรับเปลี่ยนจากการทำสวนผลไม้มาเป็นวนเกษตร ซึ่งในช่วงปรับเปลี่ยนแรกๆ คุณพ่อของเธอก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นว่า วิธีการดังกล่าวจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน และแก้ปัญหาช้างป่าได้ คิดแต่เพียงว่า อย่างน้อยที่สุดการปลูกต้นไม้คงให้ประโยชน์ ต่อมาจึงค่อยๆ พบว่า การทำเกษตรแบบนี้ นอกจากจะทำให้ครอบครัวมีรายได้มั่นคงแล้ว ยังช่วยลดปัญหาช้างป่ากินพืชไร่ได้อีกด้วย เพราะช้างมักจะไม่เข้ามาในสวนของเธอ หรือบางครั้งจะเพียงเดินลัดผ่านไปยังแปลงเกษตรของเพื่อนบ้านเท่านั้น ซึ่งความเสียหายทีที่เกิดขึ้น
“เขาอาจจะเหยียบต้นไม้เราบ้าง หรือกินกล้วยเราบ้าง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าเล็กน้อย เรามองไปอีกอย่างว่า ช้างเขามาถ่ายมูลเอาไว้ ก็เท่ากับเป็นการให้ปุ๋ยกับเรา...” กัญญาเสนอมุมคิด
“พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ จะพูดเสมอว่า ช้างยึดที่ดินไปจากเราไม่ได้ แต่ธนาคาร หรือนายทุน ยึดที่ดินไปจากเราได้ ฉะนั้นแทนที่คิดจะจัดการช้าง มาคิดจัดการตัวเองดีกว่า ...” ธวัช สรุปอย่างฟันธง
แม้ว่า วนเกษตร อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการแก้ปัญหาช้างกินพืชไร่ของชาวบ้าน แต่อย่างน้อยที่สุด ก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านได้ และเมื่อชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ ช้างก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่…
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ