ส่งออกเดือนมีนาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ดึงตัวเลข 3 เดือนขยายตัวร้อยละ 18.2 เกินเป้าหมาย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2007 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--พาณิชย์เผยการส่งออก
พาณิชย์เผยการส่งออก 3 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 34,824.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ขยายตัวทั้งตลาดหลักตลาดใหม่ เฉพาะมีนาคมส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นเดือนแรกที่มีมูลค่า ส่งออกมีมูลค่าสูงกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการส่งออกในเดือนมีนาคม 2550ว่ามีมูลค่า 13,103.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 สร้างประวัติศาสตร์ใหม่และเป็นครั้งแรกที่ส่งออกมีมูลค่าสูงกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องจากต้นปี โดยสินค้าสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกหมวด ทั้งสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 , 16.4 และ 24.6 ตามลำดับ
สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง สินค้าอาหาร(กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป) และน้ำตาลที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ขณะที่ยางพารามูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 แต่ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 5.3
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่การส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญและขยายตัวในอัตราสูงกว่าร้อยละ 15 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง(ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า) ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ สินค้าอื่น ๆ ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้าน และ สิ่งพิมพ์และกระดาษ
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกลดลง ได้แก่ สิ่งทอที่ลดลงร้อยละ 1.6 เนื่องจากปัญหาการแข่งขันในตลาดโลก และอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกลดลงเป็นเดือนแรกร้อยละ 16.5 ซึ่งเป็นการลดลงของการส่งออกทองคำและเครื่องประดับทำด้วยทองคำซึ่งลดลงถึงร้อยละ 60.6 และ 29.2 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาราคาทองคำที่มีการปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันกับจีนในตลาดสหรัฐ
กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่สำคัญและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบของอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และ เลนส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 , 25.4 , 99.9 และ 46.0 ตามลำดับ
ในด้านตลาดส่งออกนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกตลาด โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 26.2 ตลาดที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องได้แก่ ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 67.8) อินเดีย(ร้อยละ 55.1) ออสเตรเลีย(ร้อยละ 52.5) ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 36.1) แอฟริกา(ร้อยละ 30.3) จีน(ร้อยละ 24.3) และ ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 23.8) รวมทั้งไต้หวัน อินโดจีนและพม่า และ เกาหลีใต้ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงร้อยละ 38.8 , 25.2 และ 20.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ฮ่องกงและแคนาดาที่ส่งออกลดลงเล็กน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ก็กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และ 5.6 ตามลำดับ
ขณะที่ตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 12.6 โดยเฉพาะสหภาพยุโรป(15) และญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงต่อเนื่องร้อยละ 20.9 และ 21.2 ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐฯก็ยังขยายตัวในอัตราต่ำต่อเนื่องร้อยละ 1.7 สำหรับอาเซียน(5)เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เนื่องจากการส่งออกไปสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 8.2 ขณะที่การส่งออกไปตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน(5)ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกในเดือนมีนาคมที่สูงเกินคาดส่งผลให้การส่งออกในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่า 34,824.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 คิดเป็นร้อยละ 23.86 ของ เป้าหมายการส่งออก (สัดส่วนการส่งออกไตรมาสแรกเฉลี่ยของปี 2547 - 2549 เท่ากับร้อยละ 22.88) โดยสินค้าสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ทั้งสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าอื่น ๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6, 17.0 และ 20.6 ตามลำดับ
สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งนี้ สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าวปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 และ 13.8 ตามลำดับ มันสำปะหลังปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 และ 52.0 ตามลำดับ สินค้าอาหาร(กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป) ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 และ 17.2 ตามลำดับ และ น้ำตาลปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 222.0 และ 216.9 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณส่งออกลดลง ได้แก่ ยางพารามูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ขณะที่ปริมาณลดลงร้อยละ 2.6
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 15 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง(เหล็กและเหล็กกล้า) ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ และ ของเล่น สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 10 - 15 ได้แก่ และ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า และ สิ่งพิมพ์และกระดาษ
ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และ เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้าน สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ สิ่งทอ ลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากปัญหาการแข่งขันกับจีนและเวียดนามและได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทโดยเฉพาะผู้ส่งออกรายเล็ก
สินค้าอื่น ๆ ที่สำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล ส่วนประกอบของอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และ เลนส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 , 33.0 , 76.8 และ 38.6 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ ร้อยละ 12.9 และ 25.5 ตามลำดับ และทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เป็นร้อยละ 44.7 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักเป็นร้อยละ 55.3 (ปี 2549 สัดส่วนตลาดใหม่ : ตลาดหลัก คือ 43.2 : 56.8) โดยตลาดหลัก เพิ่มขึ้นทุกตลาด ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงได้แก่ สหภาพยุโรป(15) ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 , 17.3 และ 11.6 ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 2.2 อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวและภาวะการแข่งขันในตลาด
ส่วนตลาดใหม่ เพิ่มขึ้นทุกตลาด ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงได้แก่ อินเดีย(ร้อยละ 64.5) ออสเตรเลีย(ร้อยละ 62.3) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 42.5) ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 35.4) ไต้หวัน(ร้อยละ 32.5) แอฟริกา(ร้อยละ 28.6) อินโดจีนและพม่า(ร้อยละ 22.7) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 20.3) และจีน(ร้อยละ 20.2) ขณะที่ เกาหลีใต้ ฮ่องกงและแคนาดา เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 14.1 , 6.2 และ 4.3 ตามลำดับ
นายเกริกไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการนำเข้านั้น เดือน มีนาคม นำเข้ามูลค่า 10,836.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณ ร้อยละ 6 และเมื่อรวม 3 เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปี 2550 ทำให้มีมูลค่าการนำเข้า 30,553.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2,267.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวม 3 เดือน เกินดุลการค้า 4,270.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดว่าในปีนี้จะพยายามทำให้การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 12.5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ