กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มธ.จับมือนิด้า ผนึกกำลังพัฒนาข้อมูลดรรชนีวารสารไทย หวังเป็นต้นแบบความร่วมมือห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต
ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทางการวิจัย และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งให้บริการสารสนเทศที่มีความพร้อมในการรองรับยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยของมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นทางด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย และมีความพร้อมด้านการพัฒนาแหล่งบริการสารสนเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน
ด้านศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านการจัดทำข้อมูลดรรชนีวารสารไทย และการจัดหาวารสาร เพื่อแก้ปัญหาการบอกรับที่ซ้ำซ้อนกัน ช่วยประหยัดงบประมาณ รวมไปถึงการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงความตกลงด้านการบอกรับฐานข้อมูลต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันอยู่ก่อนแล้วในหลายลักษณะและหลายกิจกรรม การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เห็นภาพการทำงานชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำข้อมูลดรรชนีวารสารและการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาด้านความซ้ำซ้อนของการปฏิบัติงานประเภทเดียวกัน อาทิ การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ การจัดทำดรรชนีวารสาร เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดสำหรับการลงนามในครั้งนี้ คือผู้ใช้บริการของห้องสมุดของทั้งสองสถาบัน ที่สามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในด้านศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิชาการของไทยต่อไปในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6133527 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์