กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
นพ. ยงสรร วงศวิวัฒน์เสรี ศัลยแพทย์สาขาลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
"เพราะลมมันเย็น" อาการนี้ เชื่อว่าคงเคยเกิดขึ้นกับใครหลายคน เพราะเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารที่สร้างความทรมานขณะปลดทุกข์ได้ไม่น้อย ซึ่งเป็นกันได้ทั้งชาย และหญิง แต่นอกจากคนทั่วไปแล้ว สตรีมีครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกเจ้าริดสีดวงทวารแผลงฤทธิ์ได้เช่นกัน
โดย นพ. ยงสรร วงศวิวัฒน์เสรี ศัลยแพทย์สาขาลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ให้ความรู้ว่า ริดสีดวงทวารเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองขึ้นมาบริเวณทวารหนัก (คล้ายกับการเป็นเส้นเลือดขอดที่ขา) สาเหตุที่คุณแม่มักเป็นกัน เพราะฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางท่านไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เพิ่งมาเป็นในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากปริมาณและการไหลเวียนของเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะร่างกายส่วนล่าง แต่ระบบไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เพราะมดลูกที่ขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ไปกดทับเส้นเลือดดำในบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดเป็นภาวะเลือดคั่งในเส้นเลือดดำและเกิดการบวมบริเวณทวารหนัก หรือที่เรียกว่าริดสีดวงทวารนั่นเอง
นอกจากนี้ คุณหมอบอกต่อว่า คุณแม่ส่วนใหญ่มักอาย และไม่กล้าเข้ามาปรึกษาแพทย์ จนอาการริดสีดวงกำเริบ และยากที่จะรักษา ซึ่งคุณหมอแบ่งระยะอาการเกิดริดสีดวงทวารออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จะพบอาการเลือดออกปนมากับการถ่ายอุจจาระ ระยะที่ 2 จะเริ่มมีก้อนยื่นออกมา แต่สามารถหดกลับได้เอง ระยะที่ 3 มีก้อนยื่นออกมา แต่ไม่หดกลับไปเองจะต้องใช้นิ้วช่วยดันด้วย ส่วนระยะที่ 4 เป็นระยะที่ก้อนยื่นออกมา แต่ไม่สามารถหดกลับได้เอง ซึ่งระยะหลังนี้ ถ้าเป็นหนักมากอาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัดช่วยในการรักษา
"ส่วนใหญ่อาการริดสีดวงทวารมักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แต่บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งแพทย์มักจะรอให้คลอดก่อนแล้วจึงจะพิจารณาว่าควรผ่าตัดรักษาหรือไม่ ดังนั้นหลังคลอดจึงควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ต้องกลัวว่า การขับถ่ายจะทำให้แผลเย็บฉีกขาด เน้นการกินอาหารที่มีกากใย และการเดินจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น" คุณหมอกล่าว
สำหรับคุณแม่ที่เป็นริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์ และกังวลว่าจะมีปัญหาในการคลอดลูก ในเรื่องนี้ คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องกังวลใจ เพราะยังสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ตามปกติ โดยแพทย์จะเพิ่มความระมัดระวังในการตัดฝีเย็บ เพื่อไม่ให้ไปโดนริดสีดวง และไม่ให้มีการฉีกขาดของช่องตลอดมากเกินไป
นพ. ยงสรร วงศวิวัฒน์เสรี ให้แนวทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในการรับมือกับริดสีดวงทวารว่า ต้องปรับวิถีการกินเสียใหม่ ด้วยการกินผัก และผลไม้เยอะๆ ตามด้วยดื่มน้ำวันละหลายครั้งๆ (ประมาณ 8-10 แก้ว/วัน) ปรับพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำที่ใช้เวลานั่ง หรือเบ่งนานๆ หากมีอาการปวด อันเนื่องมาจากริดสีดวงทวารกำเริบ ให้ใช้วิธีการประคบ หรือแช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนบริเวณทวารหนักดีขึ้น และลดการบวมของริดสีดวงทวาร ช่วยบรรเทาภาวะเจ็บปวดได้ดีในเบื้องต้น
นอกจากนี้ ควรหาโอกาสนอนตะแคงทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อลดความดันในช่องท้อง หรือยกขาพาดกับโต๊ะประมาณ 20 นาที ก็อาจช่วยได้ หรือนอนคว่ำให้เข่าชิดบริเวณอก หรือท้อง หรือนอนท่าก้นโด่ง ในช่วงเย็นหรือกลางคืน วันละประมาณ 10-15 นาที เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนเลือดที่บริเวณทวารหนักกลับสู่หัวใจให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ควรเริ่มทำในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มเวลาให้ได้วันละ 15 นาที และเวลานอนหลับพักผ่อนควรใช้ท่านอนตะแคง หรือนอนโดยใช้หมอนหนุนสะโพกให้สูงขึ้น
"ถึงแม้ว่าริดสีดวงทวารจะเป็นไม่อันตรายใดๆ กับการตั้งครรภ์ แต่จะทำให้เกิดความรำคาญ คันรอบทวารหนัก เจ็บและมีเลือดติดปนเวลาถ่ายอุจจาระ หรือหลังถ่าย ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจมีอาการซีดได้” ดังนั้นเมื่อเกิดอาหารผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อลดเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา" นพ. ยงสรร วงศวิวัฒน์เสรี สรุปทิ้งท้าย