สนพ. ห่วงประชาชนเผชิญภัยแล้ง แนะ 6 วิธีประหยัดน้ำช่วยชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2007 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สนพ.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) แนะวิธีใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อคนไทยทุกคน จะได้มีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แหล่งน้ำธรรมชาติถูกบุกรุกและตื้นเขิน ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำจากแหล่งต่างๆ ลดลงได้ และจากตัวเลขของการประปานครหลวง ระบุว่า คนเมืองหลวง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เฉลี่ยประมาณคนละ 200 ลิตรต่อวัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำดิบเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาประมาณวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากตัวเลขของการประปาส่วนภูมิภาค ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำของประชาชน ในปี 2549 จำนวน 93,900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และคาดว่าใน 2553 จะมีความต้องการเพิ่มอีก 35% หรือคิดเป็นประมาณ 98,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละปี ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น
โดยทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำก่อนถึงผู้บริโภค ล้วนต้องผ่านกระบวนการใช้พลังงานทั้งสิ้น อาทิ การสูบน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำ การกรอง เพื่อทำให้น้ำสะอาด และปลอดภัย ดังนั้นหากเราใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ก็เท่ากับการประหยัดพลังงานเช่นกัน และเพื่อเป็นการให้ความรู้กับประชาชน สนพ. ขอแนะนำวิธีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ดังนี้
1. เลือกเวลาใช้ การคำนึงถึงช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมย่อมได้ผลดี เช่นเดียวกับการใช้น้ำ ก็ควรใช้อย่างประหยัด เช่น รอล้างจานทีเดียวหลายๆ ใบ ประหยัดกว่าต่างคนต่างล้าง ก่อนซักผ้าแช่ผ้าในน้ำผงซักฟอกรอไว้ก่อน ผ้าก็จะสะอาดง่ายไม่เปลืองน้ำ
2. เช็ดก่อนใช้ การทำความสะอาด โดยการ ปัด กวาด เช็ด ถู ก่อนใช้น้ำล้าง ก็จะช่วยประหยัดน้ำ เช่น ปัดฝุ่นมุ้งลวดก่อนล้าง ปัดฝุ่นรถก่อนล้างรถ ฯลฯ
3. รองก่อนใช้ การรองน้ำก่อนใช้ช่วยลดอัตราน้ำไหลทิ้งเปล่า 9 ลิตรต่อนาที หากแปรงฟันไป ปล่อยน้ำไหลไปตลอดเวลา ทำให้สิ้นเปลืองน้ำถึง 12 ลิตรต่อครั้ง ซึ่งหากใช้แก้วรองน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 1-2 แก้ว เท่านั้น การล้างจานควรอุดจุกยางกักน้ำ ประหยัดกว่าล้างโดยตรงจากก๊อกรองน้ำใส่ถังล้างรถ โดยเช็ดถูด้วยฟองน้ำก็จะใช้น้ำพียง 100 ลิตร แต่หากใช้สายยางล้างและปล่อยให้น้ำไหลตลอดเวลาจะสิ้นเปลืองถึง 4 เท่าทีเดียว
4. ใช้น้ำซ้ำ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการนำน้ำไปใช้ซ้ำอีกครั้ง เช่น น้ำสุดท้ายของการซักผ้า จะทิ้งก็น่าเสียดาย สามารถนำมาใช้ถูพื้น และหรือรดต้นไม้ ได้อีกต่อ
5. ใช้อุปกณ์ช่วยประหยัด นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำแล้ว การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีส่วนช่วยทำให้การประหยัดน้ำเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่น ใช้ถุงบรรจุน้ำใส่ในโถชักโครก (ซึ่งสามารถทำได้เอง) เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำ หรือใช้ถังชักโครกประหยัดน้ำ ซึ่งมีปุ่มให้กดน้ำตามแต่งานหนัก เบา จะดีกว่า หรือการอาบน้ำด้วยฝักบัวปรกติจะใช้น้ำ 45-50 ลิตรต่อครั้ง แต่หากใช้ฝักบัวรุ่นประหยัดน้ำจะใช้น้ำพียง 30 ลิตรต่อครั้ง หรือรดน้ำต้นไม้ด้วยบัวรดน้ำจะประหยัดกว่าสายยาง เป็นต้น
6. กำจัดจุดรั่วไหล การปล่อยให้น้ำรั่วไหลเล็กๆ น้อยๆ แต่ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง อาจสูญเสียน้ำต่อเดือนมากกว่าปริมาณที่ใช้ด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงอย่าละเลยควรตรวจตราจุดรั่วไหล และซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี เช่น ก๊อกน้ำที่มีน้ำหยดตลอดเวลาอาจสูญน้ำถึง 1,500 ลิตรต่อเดือน ชักโครงที่ลูกลอยปิดไม่สนิทน้ำไหลลงโถส้วมตลอดเวลาทำให้สูญน้ำถึง 30,000 ลิตรต่อเดือน
ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในคู่มือ “รวมพลังน้ำหารสอง” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือบอกต่อให้คนใกล้ชิดช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าสามารถเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ www.thaienergynews.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ