ซอฟต์แวร์พาร์ค ผนึกกำลัง สวทช. สร้าง CMMI 15 บริษัทภายใน 3 ปี

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 2, 2007 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--Power Plus Marketing
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์คไทยแลนด์) หน่วยงานภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) รวมพลังเร่งสานนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ตั้งเป้าสร้างรากฐานความแข็งแกร่งแบบยั่งยืนให้อุตสาหกรรม และยกระดับบริษัทซอฟต์แวร์ไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ประกาศเปิดตัวโครงการ “สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนา ซอฟต์แวร์” ( SPI@ease Program) โดยตั้งงบประมาณเพื่อให้ทุนกับ 15 บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยที่ผ่านการสอบการรับรองมาตรฐาน CMMIา
ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงทัศนะในโอกาสเป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “สนุบสนันผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์” ว่า
“โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ถือเป็นมิติใหม่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของชาติ ซึ่งทางภาครัฐมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศให้เติบโตเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว คือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย วางแผนงานและดำเนินการ เนื่องจากซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศเกือบทุกด้าน อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมเกือบทุกสาขา”
รมว. วท.ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วต่อไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายหลักคือ ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายสำคัญของโลก”
ในส่วนของสวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย รศ. ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า “ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. มีบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆในแต่ละอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้เข้าสู่มาตรฐาน CMMIา ที่ทางซอฟต์แวร์พาร์ค ให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นทางสวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด การจัดทำโครงการนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทาง สวทช. ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย SEI Authorized CMMIา Lead Appraiser และ SEI Authorized CMMIา Instructor กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า " CMMIา (Capability Maturity Model Integration) เป็นมาตรฐานที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการทางซอฟต์แวร์ ซึ่งถือว่าเป็น ต้นแบบสำหรับการชี้แนะวิธีการที่เหมาะสมกับการพัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์สำหรับผู้มีหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งคิดค้นจาก Software Engineering Institute มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เมือง Pittsburgh มลรัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งผู้พัฒนา CMMIา ต้องการให้เป็นเหมือนคู่มือให้บริษัททางด้านซอฟต์แวร์พิจารณาผลิตภัณฑ์ของตนเองว่ามีการพัฒนาและกระบวนการผลิตที่ดีหรือไม่ ซึ่ง CMMIา นี้ก็ เปรียบเหมือนคัมภีร์ของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ การได้รับการรับรอง CMMIา ก็เหมือนกับมีผู้มาตรวจสอบ และให้การรับรองว่าบริษัทนั้น ๆ มีการทำงานเป็นมาตรฐานตามกรอบของ CMMIา "
ทางด้านคุณมนู อรดีดลเชษฐ์ กรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการ นโยบาย ICT มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นับจากนี้ไปการทำธุรกรรมส่วนใหญ่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจเอกชน ซอฟต์แวร์จะมีผลโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ คุณภาพของซอฟต์แวร์ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรให้ความสนใจ ผลิตผลด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ต้องเกิดจากบริษัทที่มีกระบวนการผลิตและการบริหารโครงการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีมาตรฐานที่ดี CMMIา เป็นแนววิธีการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์อย่างเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ จึงมีความสำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างมีคุณภาพ แข่งขันกับต่างประเทศได้
สำหรับความเห็นเพิ่มเติมของ ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ระบุว่า “มาตรฐาน CMMIา เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลก การที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยจะเข้าสู่ตลาดในระดับโลก เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้โดยทั่วไป รวมทั้งการทำงานภายในประเทศที่จำเป็นจะต้องใช้มาตรฐานในลักษณะนี้ การรับรองมาตรฐาน CMMIา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้มาตรฐาน เดียวกันทั่วโลก (Globalization)”
คุณชไมพร พรพฤทธิอนันต์ รองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการว่าจะมีการคัดเลือกบริษัทที่สนใจจะเข้ารับการประเมิน CMMIา Level 2-5 โดยจะต้องเป็นบริษัทที่มีความพร้อมและผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 15 บริษัท โดยจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการจำนวนร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายในการอบรม รับคำปรึกษา และการประเมินอย่างเป็นทางการแต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนด
“สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ต้องเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 และมีบุคลากรทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ (Programmer) ไม่ต่ำกว่า 20 คน เป็นกิจการที่จดทะเบียนและดำเนินการโดยถูกกฎหมาย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องรวมถึงชำระภาษีอย่างถูกต้องข้อสำคัญก็คือจะต้องมีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน CMMIา“
“ในขณะนี้ก็มี CMMIา Service Provider หรือบริษัทที่ให้บริการให้คำปรึกษาและประเมิน CMMIา ทั้งจากภายในและจากต่างประเทศแสดงความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท IT Professional Consulting, Mensa Software & Consulting, VL Business Consultant, ISEM, TUV Nord (Thailand), Satyam Computer Services, QAI India และ GPI Asia”
ทางด้านคุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวสรุปถึงโครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ว่า
“บทบาทและหน้าที่หลักของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล และการที่จะสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโตและแข็งแรงอย่างยั่งยืนนั้น บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ควรจะมีกระบวนการผลิตที่มีระบบและมาตรฐาน เพื่อให้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ” ปัจจุบันมูลค่าตลาด Software Outsourcing ในปี 2006 มีมูลค่า 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะโตถึง 3.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2010 การที่ไทยจะมีชื่ออยู่ในแผนที่ซอฟต์แวร์ของโลก และมีส่วนแบ่งตลาดในเรื่อง Outsourcing ได้นั้น พื้นฐานหลักที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องคุณภาพและเพื่อเอาชนะข้อเสียเปรียบเรื่องจำนวนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของไทยที่มีจำกัด เราต้องหา niche ที่แข่งขันได้ นอกจากจะรู้เรื่อง Business process และสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว การมี process ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมซอต์แวร์ไทยได้อย่างแน่นอน”
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ ได้เป็นผู้ริเริ่มให้การสนับสนุน กระตุ้น และผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในการนำมาตรฐานกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์มาใช้ ได้แก่ มาตรฐานสากล CMM (Capability Maturity Model), CMMI (Capability Maturity Model Integration) และ ISO15504 ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ คุณภาพของซอฟต์แวร์ และบริการด้านซอฟต์แวร์ของบริษัทซอฟต์แวร์ไทยให้มีศักยภาพที่จะเติบโต สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยโดยรวม จนสามารถผลักดันให้มีบริษัทซอฟต์แวร์ไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน CMM จำนวน 19 บริษัท และ CMMI จำนวน 2 บริษัท รวมถึงสร้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวน 20 กว่าราย ในปัจจุบัน”
“ทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยมุ่งหวังสร้างประโยชน์ทั้งแบบทางตรงและทางอ้อมให้เกิดแก่อุตสาหกรรมโดยรวม ประโยชน์ทางตรง ก็คือบริษัทซอฟต์แวร์ไทย ที่จะได้มีการพัฒนาศักยภาพในด้านผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ สำหรับประโยชน์ทางอ้อม จะเกิดแก่ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ซึ่งต้องการซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จสูงสุด คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย และสามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมให้แกร่งเพื่อรองรับความเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต”
“ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวเสริมถึงวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวว่าการให้ทุนสนับสนุนจะเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่จะทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยสนใจที่จะทำการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์และเข้ารับการประเมินมาตรฐานการผลิตซอฟต์แวร์ในกรอบของ CMMIา ซึ่งเป็นกรอบมาตรฐานด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก โดยความมุ่งหวังที่ว่า การได้รับการรับรองมาตรฐานนี้จะส่งผลให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างมั่นคง รวมถึงจะทำให้ได้บุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีความรู้ทางด้าน SPI (Software Process Improvement) เพิ่มขึ้นด้วย”
กล่าวสรุปว่า “เราคาดหวังว่าโครงการฯนี้ จะส่งผลให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์โดยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล CMMIา มากขึ้น มีห้องสมุดที่รวบรวม process template และ best practices ต่าง ๆ สำหรับเป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ รวมทั้งช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้ในระยะยาวและยั่งยืน”
ทั้งนี้ทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการในงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นที่ซอฟต์แวร์พาร์ค ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 เวลา 13:30-16:30 โดยสามารถดูรายละเอียดโครงการและงานสัมมนาได้ที่ www.swpark.or.th/spi@ease .
สุวรรณี รัตนาภรณ์พิศิษฐ์
โทร.0-2264-9527, 089-685-9014

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ