ริบบิ้นสีขาว “White Ribbon” สัญลักษณ์แห่งการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Monday November 22, 2010 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--พม. การรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีได้เริ่มเป็นครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๑๙๙๑ (พ.ศ.๒๕๓๔) หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน ๑๔ ราย ซึ่งมีพื้นฐานปัญหามาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ โดยผู้ริเริ่มการรณรงค์เป็น กลุ่มอาสาสมัครชายประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงเรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาและแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงต่อสตรี โดยการติดริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ เริ่มจากวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ต่อมาทั่วโลกจึงได้นำสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่มีความหมายถึง การไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบ มาเป็นสัญลักษณ์สากลที่ใช้ในการรณรงค์ เป็นต้นมา ในประเทศไทย ได้มีการขยายการรณรงค์ไปสู่การยุติความรุนแรงต่อเด็กและความรุนแรงในครอบครัวด้วย เนื่องจากพบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งต่อเด็ก สตรี และในครอบครัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวมิได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว สังคม และชุมชนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง การรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาว จึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ผู้ชายทุกคน รวมทั้งคนในสังคมได้ปรับเปลี่ยนเจตคติ และพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา และร่วมแสดงตน เป็นเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรง ในครอบครัวอย่างจริงจัง ปัญหาความรุนแรง..ภัยเงียบในสังคมไทย ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหามีจำนวนไม่มากนักที่จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือขอความเป็นธรรม เด็กและสตรี ที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่จะต้องจำทนรับสภาพ และหลายรายถูกกระทำซ้ำๆ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และทุกภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมที่เป็นอุปสรรคต่อการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนตลอดไป มติ ครม. ให้ พฤศจิกายน เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ เห็นชอบกำหนดให้ เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและร่วมมือกันขจัดปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา โดยมีสำนักงาน กสส. ซึ่งปัจจุบัน คือ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานประสานงานการจัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและตระหนักถึงประเด็นปัญหา และเกิดกระแสความสนใจและ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ จากการที่ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เป็นต้นไปนั้น กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว จะเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ หาแนวร่วมในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและในครอบครัวต่อไป นำมาสู่การจัดกิจกรรม เพื่อให้เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และเห็นความสำคัญของ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เป็นเครื่องมือ ในการร่วมยุติความรุนแรงในสังคมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ