กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--วว.
ปัจจุบันผลผลิตการเกษตรของประเทศไทยอยู่ในสภาพตกต่ำ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากทรัพยากรดินซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยร้อยละ 53 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรถูกจัดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก คือ มีอินทรียวัตถุต่ำกว่าร้อยละ 1.5 และมีโครงสร้างดินที่เสีย คือ ดินแน่นแข็งอันเป็นผลจากการทำการเกษตรที่ไม่ถูกวิธี และการใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงดิน เนื่องจากโครงสร้างของดินที่แน่นแข็งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช
การฟื้นฟูและปรับปรุงดินทำได้หลายวิธี เช่น การใส่อินทรียวัตถุให้แก่ดิน ซึ่งปัจจัยส่งเสริมโครงสร้างดินในธรรมชาติที่สำคัญที่สุด คือ จุลินทรีย์ในดิน โดยเฉพาะสาหร่ายบางชนิดที่สามารถหลั่งสารพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ข้นเหนียวสู่ภายนอกเซลล์ ทำให้เกิดการจัดเรียงและการเชื่อมยึดกันของอนุภาคเดี่ยวของดินเป็นเม็ดดิน เกิดเป็นโครงสร้างดินที่ดี มีช่องว่างให้รากหรือหัวพืชชอนไชและแผ่กระจายไปในดิน รวมทั้งมีช่องว่างในการกักเก็บและเคลื่อนที่ของน้ำและอากาศภายในดินที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการของศูนย์จุลินทรีย์ (ศจล.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) และบริษัท อัลโกเทค จำกัด พบว่าสาหร่ายนอสตอค (Nostoc ssp.) ซึ่งเป็นสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว สามารถผลิตสารประกอบพอลิแซ็กคาไรด์ได้สูง จึงมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินในเชิงพาณิชย์ได้
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานในต่างประเทศที่ระบุว่า สาหร่ายนอสตอคที่ผลิตเมือกสามารถคงความมีชีวิตได้ถึง 87 ปีในเฮอร์บาเรียม (เป็นการเก็บรักษาในสภาพแห้ง) และกว่า 70 ปีในทะเลทราย เนื่องจากมีเมือกพอลิแซ็กคาไรด์หุ้ม ด้วยเหตุนี้สาหร่ายในสกุลนอสตอคจึงมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงดินได้โดยการใช้ทั้งในรูปแบบของเซลล์ที่มีชีวิตโดยตรง หรือแยกใช้เฉพาะสารพอลิแซ็กคาไรด์ที่สาหร่ายผลิตขึ้น
ปัจจุบัน วว. ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายในสกุลนอสตอค” โดยผลการวิจัยในเบื้องต้นพบว่า สารปรับปรุงดินฯ ที่ได้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตแล้ว การศึกษาในต่างประเทศพบว่าการใช้สาหร่ายปรับปรุงโครงสร้างดินในไร่ข้าวโพดติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี จะช่วยป้องกันการกัดเซาะผิวดินโดยน้ำและการกัดกร่อนผิวดินโดยลมอย่างเห็นได้ชัดเจน
จากความสำเร็จของ วว. ในครั้งนี้ หากมีการนำ “สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายในสกุลนอสตอค” ไปใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่การเกษตรของไทย ก็จะก่อให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนในอนาคตชม สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายและแปลงข้าว/แปลงผักสาธิต ได้ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 ระหว่างวันที่ 8- 19 สิงหาคม 2550 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์จุลินทรีย์ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันเวลาราชการ E-mail :tistr@tistr.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net