ลามีใช้เวทีประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ฟื้นการเจรจา WTO

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2007 09:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ปชส.จร.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและการเกษตรของประเทศสมาชิกกลุ่มเครนส์ ว่า การประชุมดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาสินค้าเกษตรและแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาในสิ้นปี สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดที่เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน โดยมีผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ผู้แทนสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เข้าร่วมหารือด้วย
ในที่ประชุม นายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ต้องการให้ประเทศสมาชิกเริ่มกระบวนการเจรจาหลายฝ่ายใหม่หลังหยุดชะงักมานาน โดยกดดันกลุ่ม G4 ให้เร่งหาข้อสรุปให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เห็นว่ากลุ่มเครนส์มีศักยภาพพอที่จะผลักดันการเจรจาเกษตรให้มีความก้าวหน้าได้ แต่กลุ่มควรมีท่าทีที่เป็นเอกภาพ นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ คือ การต่ออายุ TPA (Trade Promotion Authority) ของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีโอกาสเพียง 20% แต่หาก WTO สามารถสรุปการเจรจาที่มีข้อเสนอที่ดีก็อาจทำให้มีโอกาสต่อ TPA ได้ถึง70% โดยทั่วไปบรรยากาศการเมืองทั้งของสหรัฐฯ และสหภาพฯ ในขณะนี้ยังเอื้อให้สามารถเจรจาต่อได้ ซึ่งสมาชิกจำเป็นจะต้องสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปีนี้
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า Mr. Peter Balas ผู้แทนสหภาพยุโรปต้องการเห็นผลการเจรจาสินค้าเกษตรที่ก่อให้เกิดการค้าได้จริงและลดการอุดหนุนการผลิตลงให้มากที่สุด ทั้งนี้สหภาพฯ รับข้อเสนอของกลุ่ม G20 ในเรื่องการเปิดตลาด การลดการอุดหนุนภายใน และการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ซึ่งหากสหรัฐฯ ลดการอุดหนุนภายในจนถึงระดับที่มีการใช้จริง และยอมรับกฎเกณฑ์เรื่องสินเชื่อเพื่อการส่งออกก็จะทำให้บรรยากาศการค้าสินค้าเกษตรของโลกดีขึ้น ทั้งยังต้องการให้ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการเจรจามากขึ้น ทั้งนี้ สหภาพฯ ต้องการให้การเจรจาการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและการค้าบริการมีความคืบหน้าไปพร้อมๆ กับการเจรจาสินค้าเกษตร
สำหรับผู้แทนสหรัฐฯ (Mr. Peter Algeier) เห็นว่าประเด็นหลักของการเจรจาคือเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตรและการอุดหนุนภายใน ซึ่งการลดภาษีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมยังคงมีช่องว่างมาก สมาชิกต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรที่อ่อนไหว (Sensitive Product) ให้เร็วที่สุด การลดภาษีที่น้อยกว่าสูตรปกติมากเท่าใดก็จะต้องชดเชยด้วยการเปิดโควต้าภาษีมากเท่านั้น พร้อมต้องการให้สินค้าพิเศษ (Special Product) และมาตรการปกป้องพิเศษของสินค้าเกษตรเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และเห็นว่าข้อเสนอเรื่อง Special Product ของปากีสถานมีประเด็นที่น่าสนใจที่อาจนำมาหารือต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ได้ยื่นร่าง Farm Bill ซึ่งมีการปรับปรุงให้ "more market oriented" แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะยอมรับร่างดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้มีการต่อกฎหมาย TPA ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการเจรจาระหว่างประเทศซึ่งจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน ศกนี้ ซึ่งฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ จำเป็นต้องมี TPA เพื่อให้สามารถเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้งในส่วนของ FTA และ WTO โดยคาดว่าอาจมีการต่อรองจากฝ่ายรัฐสภาให้เพิ่มประเด็นเรื่องการแรงงานและสิ่งแวดล้อมในการเจรจา FTA ซึ่งการจะได้ต่ออำนาจการเจรจาในส่วนของ WTO หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลการเจรจาว่าจะมีข้อเสนอที่ดีในเรื่องสินค้าอุตสาหกรรมและบริการหรือไม่ สำหรับวิธีการเจรจาของสหรัฐฯ ใน WTO นั้น สหรัฐฯ ยังเน้นการเจรจาสองฝ่ายมากกว่าการเจรจาในระดับพหุภาคี และกำลังหาวิธีที่จะนำผลการเจรจาสองฝ่ายมาขยายผลในระดับการเจรจาอื่นๆ ต่อไป
สำหรับผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น (Mr. Fujisaki ) ยืนยันว่า ญี่ปุ่นสนับสนุนให้สมาชิกกลับมาเจรจาในระดับหลายฝ่ายโดยเร็ว ทั้งนี้ญี่ปุ่นพร้อมจะมีความยืดหยุ่นในการเปิดตลาดสินค้าเกษตร แต่จะต้องมีความสมดุลกับการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและบริการด้วย และผลการเจรจาจะต้องสะท้อนถึงความต้องการของทุกฝ่าย โดยกลุ่ม G10 (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ต้องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร) อยู่ระหว่างการหาแนวทางเพื่อสนองความต้องการของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และเห็นว่าควรมีการหารือระหว่างกลุ่ม G10 และกลุ่มเครนส์เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะลดการอุดหนุนภายในเพิ่มเติมหากข้อเสนอเรื่อง การเปิดตลาดของญี่ปุ่นได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ดีญี่ปุ่นยืนยันคัดค้านการมี Tariff Cap (เพดานการกำหนดภาษี)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ