กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สยามกลการ
“สยามกลการ” ร่วมฟื้นฟูมรดกของชาติหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน แหล่งรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน เก็บข้อมูลศิลปหัตถกรรม เครื่องจักสานพื้นบ้านเอกสารโบราณ หนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ “สยามกลการ…นบพระภูมิบาล บุญดิเรกเจ้าจอมไทย”
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนสระบุรี นับเป็น 1 ใน 9 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ทางชมรมไทยวน สระบุรี โดย อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ร่วมกับโครงการ Think Earth บริษัท สยามกลการ จำกัด และบริษัทในกลุ่ม โดย นายพรเทพ พรประภา ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการเฉลิมพระเกียรติ “สยามกลการ.....นบพระภูมิบาลบุญดิเรกเจ้าจอมไทย” ขึ้น โดย “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน” แห่งนี้จะเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นสมบัติที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และ สืบสานให้คงอยู่สู่อนุชนคนรุ่นใหม่
สำหรับ “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน” ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ติดกับถนนสายสระบุรี-ปากบางกิโลเมตรที่ 3 พื้นที่รอยต่อระหว่าง อำเภอเมือง และอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยมีลักษณะของอาคารที่ก่อสร้างจะเป็นหมู่เรือนไทยขนาดกลาง บนพื้นที่ 2 ไร่โดยถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 ปีคริสต์ศักราช 1999 หรือ วันที่ 9 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2542 เป็นวันลงเสาเอก ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2542 และเสร็จสมบูรณ์
ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2542 ซึ่งงบประมาณในการก่อสร้างหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี แห่งนี้ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Think Earth บริษัท สยามกลการ จำกัด และงบส่วนตัวของครอบครัวอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน เป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและเก็บรวบรวมงานฝีมือ ที่เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ เครื่องจักสาน เครื่องมือทอผ้า เอกสารโบราณ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องมือจับสัตว์บก-น้ำ เป็นต้น ตลอดจน นิทรรศการประวัติความเป็นมาของผ้าทอชาวไทยวน สระบุรี
ในปี 2543 เนื่องในโอกาสงานฉลอง 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทางโครงการ Think Earth บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้จัดสรรงบประมาณร่วมกับอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า “บูชาความดี.....พระสร้อยศรีเมือง” โดยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านลุ่มน้ำป่าสัก ขึ้นในพื้นที่ หอวัฒนธรรมฯ เพื่อจัดเก็บรวบรวมเรือพื้นบ้านที่กำลังสูญหายไปจากแม่น้ำป่าสัก นำมาจัดแสดงและอนุรักษ์ ไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสศึกษาประวัติความเป็นมาของเรือแต่ละลำ แต่ละชนิด โดยท่านที่สนใจชมพิพิธภัณฑ์ฯ ทุกท่านจะได้สัมผัสกับอากาศสบาย ๆๆ ลองพายเรือเคียงคู่กับธรรมชาติริมแม่น้ำ ป่าสักได้ด้วยตนเอง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งโครงการ “สยามกลการ...... นบพระภูมิบาล บุญดิเรกเจ้าจอมไทย” และโครงการ “บูชาความดี..พระสร้อยศรีเมือง” โดยชมรมไทยวน สระบุรี ร่วมกับ โครงการ Think Earth บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้ทำพิธีเปิด หอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี และ พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านลุ่มน้ำป่าสัก อย่างเป็นทางการ ไปเมื่อปี2542
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี และพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านลุ่มน้ำป่าสัก แห่งนี้ได้รับความสนใจเป็นจากประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และจังหวัดต่างๆ โรงเรียน สถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ได้มาศึกษา ค้นคว้า ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ตลอดจนมีประชาชน ให้ความสนใจเข้าชมหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มากกว่า 200,000 คน นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา รวมถึงชาวต่างประเทศสนใจ เดินทางมาศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่อย่างไทยๆ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านหรือโฮมสเตย์ที่สำคัญที่สุด หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน แห่งนี้ เป็นสถานที่ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้งานทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งจะส่งผลระยะยาวที่ยั่งยืนสำหรับงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นในอนาคตข้างหน้า
สำหรับ ตัวหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน อาทิ ในปี พ.ศ. 2539 โครงการ Think Earth จากบริษัท สยามกลการ จำกัด ได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อสารมวลชนและสาธารณชนหลายสาขาให้เข้ามาเยี่ยมเยียนหอวัฒนธรรมแห่งนี้ จากนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาส่งเสริม จนเกิดการทำโฮมสเตย์ขึ้นที่นี่ ปัจจุบันผู้สนใจที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของเชื้อสายไทยวนในสระบุรี แห่งนี้
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เป็นหมู่เรือนไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์ไทยวน ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม จัดประชุมสัมมนาจัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมทางล้านนา (ขันโตก และฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวไทยวน เช่น การฟ้อน การตัดกระดาษ การทำอาหาร งานใบตอง เดิมอาจารย์ใช้บ้านเรือนไทยของตัวเองซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของถนน ตรงข้ามกับที่ตั้งในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2530 ต่อมาจึงขยับขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้าม ริมแม่น้ำป่าสัก
“หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน” โดยมี อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล บุคคลผู้สืบทอดสายเลือดชาวไทยวน อย่างแท้จริง ได้รวบรวมและเผยแพร่ความรู้ วิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมที่สืบสานกันมากว่า 200 ปี เป็นวิถีแบบชาวเมืองเหนือทุกอย่าง อาทิ ที่พักอาศัย อาหาร ที่จัดสำรับแบบขันโตก การละเล่น ฟ้อนรำ ผ้าทอพื้นบ้าน ที่มีลักษณะลวดลายผ้าเป็นเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ที่สืบสานกันมากว่าร้อย ๆ ปี
คนไทยยวน สระบุรี ในระยะแรกมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก แม้ปัจจุบันชาวไทยยวนจะขยายพื้นที่อาศัยไปยังที่ไกลน้ำตามตำบลต่างๆ แต่ก็ยังปรากฏวิถีดั้งเดิมอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะที่ตำบลต้นตาล มีอยู่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหัวหิน บ้านต้นตาลและบ้านท่าราบ ชาวบ้านใช้วิถีชีวิตอยู่ริมน้ำป่าสัก เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญที่หล่อหลอมชาวไทยวนให้เป็นหนึ่งเดียว ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทยมาจนปัจจุบัน
อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล เริ่มสะสมสิ่งของพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีผ้าทอโบราณอีกหลายร้อยผืน ที่อาจารย์ภาคภูมิใจ โดยบอกว่า “ถ้าไม่ได้เก็บของพวกนี้ ปัจจุบันก็สูญหายหมด ไม่มีตัวอย่างให้เห็น” และบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านยังเป็นที่เก็บและจัดแสดงเรือชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก”
จากความเสียดายภาษาและวัตถุที่จะสูญหายไปนี้เอง อาจารย์ทรงชัย ได้ชมรมไทยวน สระบุรี ในปี พ.ศ. 2536 โดยทำงานแบบ 3 ประสาน “บ ว ร” คือ ร่วมกับบ้าน-วัด-โรงเรียน ภายใต้แนวความคิด “3 ส”
สืบหา ว่าพวกเรามาอยู่กันได้อย่างไร โดยสืบสาวจากความเป็นมาของภาษาที่คล้ายคลึงกับคนเหนือจากคำเรียกตัวเองว่าเป็น คนยวน นอกจากนั้นพวกเราได้ลงไปเชียงแสนเพื่อสอบถามผู้รู้ เพราะในพงศาวดาร
ได้กล่าวถึงคนยวนว่าเป็นคนเชียงแสนที่อพยพลงมา
สืบสาน ฟื้นฟู รักษา ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนา กลุ่มชาติพันธุ์
เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มวัฒนธรรม
“หาเพื่อนเกลอเครือข่าย ประชาสัมพันธ์ขยายผล ให้เยาวชนสืบสาน ทำงานต่อเนื่อง มีเรื่องต่อยอด”
กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ทางชมรมพยายามรื้อฟื้นและพยายามจัดประจำทุกปี คือการจัดงานบุญสลากภัต โดยนำเอางานบุญสลากภัตมาเป็นสื่อกิจกรรมตอนกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจะมีงานขันโตก ภายใต้คำรณรงค์ว่า “มาฟู่(พูด) ยวนกั๋นเต๊อะ” โดยในปีแรกของการจัดกิจกรรม เป็นการรณรงค์ให้คนพูดภาษาถิ่น เพราะในปัจจุบันผู้คนมองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้แล้ว ส่วนในปีต่อมาเป็นเรื่องผ้าทอพื้นบ้าน ปีที่ 3 เป็นเรื่องการกินอาหารพื้นเมือง ปีที่ 4 เป็นเรื่องศิลปะ “รักศิลป์ไทยวน” และคาดว่าจะใช้แนวคิดเรื่อง “คู่ควรเศรษฐกิจพอเพียง”
ข้อมูล ปี 2536 ได้มีการรวมตัวกันในกลุ่มชาวไทยวน ตั้งชมรมขึ้นโดยมีอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล เป็นประธานชมรม เรียกว่าชมรมไทยวนสระบุรี ทำการศึกษาประวัติความเป็นมา กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสาวความเป็นมา ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มของชาวไทยวน การอนุรักษ์มรดกของชาติ ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ในเรื่องของภาษาพื้นเมืองของชาวไทยวน ที่มีสำเนียงทางเหนือ บ้างว่าฟังคล้ายชาวแพร่บ้าง เชียงรายบ้าง เชียงแสน
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เป็นหมู่เรือนไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์ไทยวน ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม จัดประชุมสัมมนา
จัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมทางล้านนา (ขันโตก และฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวไทยวน เช่น การฟ้อน การตัดกระดาษ การทำอาหาร งานใบตอง เดิมอาจารย์ใช้บ้านเรือนไทยของตัวเองซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของถนน ตรงข้ามกับที่ตั้งในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2530 ต่อมาจึงขยับขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้าม ริมแม่น้ำป่าสัก
สนใจศึกษาวิถีชีวิต....วัฒนธรรม...ความเป็นอยู่ชาวไทยวนริมแม่น้ำป่าสักแวมาเยือน ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือสอบถามได้ที่ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล โทร. 036-725-224
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2215-3158 PR.Siam Motors Co.,Ltd.