กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โรงพยาบาลกรุงเทพ รุกความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการรักษา และการให้บริการทางการแพทย์ (Advanced and Caring) ลงทุน 60 ล้านบาท ซื้อ “เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA” เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดทั่วร่างกาย เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยในการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
ในครั้งนี้ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในการเปิดให้บริการเครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA โดยมี รศ.นพ.จิโรจน์ สุชาโต กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และหัวหน้ารังสีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพและ รศ.นพ. คมกริช ฐานิสโร แพทย์รังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมแนะนำเทคโนโลยีใหม่และพาเยี่ยมชมศักยภาพการทำงานจริงของเครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด
รศ.นพ.จิโรจน์ สุชาโต กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และหัวหน้ารังสีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงรูปแบบในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในปัจจุบันว่า รูปแบบการรักษาในแต่ละโรคหลอดเลือดนั้น มีทั้งรูปแบบการผ่าตัด และแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับ บริเวณหรืออวัยวะที่เกิด พยาธิสภาพของโรค อาการ ระยะเวลาที่เกิดโรค รวมไปถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรได้รับการรักษาแบบใด โดยเทคนิคการรักษารูปแบบไม่ผ่าตัด ทำได้หลายวิธี เช่น การให้ยา การฉีดยาบล็อคเส้นประสาท การฉีดสี การสวนหลอดเลือด เป็นต้น
เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA มีชื่อเต็มว่า Biplane Digital Subtraction Angiography เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ตับ และหลอดเลือดแขน ขา และหลอดเลือดทั่วร่างกาย ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาโรคได้หลายชนิดแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือเรียกว่า รังสีร่วมรักษา
รังสีร่วมรักษาเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วย โดยการใช้เครื่องมือตรวจพิเศษทางการแพทย์ ได้แก่ เครื่องตรวจด้วยรังสีเอ็กซ์ (X-ray), เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography- CT) เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI ) หรือเครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือด Bi-plane DSA เพื่อส่องให้เห็นพยาธิสภาพภายในร่างกาย หลังจากนั้นก็อาศัยการเห็นจากเครื่องมือเหล่านี้เพื่อเป็นตัวชี้นำให้สามารถนำยาละลายลิ่มเลือด เครื่องมือเพื่อไปดึงหรือลากลิ่มเลือดในเส้นเลือด มีการใส่บอลลูน ถ่างขยายเส้นเลือด (Acute angioplasty) หรือใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Stent) ไปทำการตรวจหรือรักษาพยาธิสภาพดังกล่าวให้ได้ผลเหมือนกับหรือใกล้เคียงกับการผ่าตัด
จุดเด่นของเครื่อง Bi-plane DSA คือ สามารถถ่ายภาพได้ 2 ระนาบพร้อมกัน (ด้านหน้า และด้านข้าง) ภาพที่ได้มีคุณภาพสูง คมชัด สามารถเห็นสายสวนหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากได้ชัดเจน โดยให้ภาพเสมือนจริง เป็นภาพ 3 มิติ ช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของเส้นเลือดในส่วนต่างๆได้อย่างชัดเจน และส่งผลให้เพิ่มความแม่นยำในการตรวจรักษายิ่งขึ้น ด้วยการฉีดสารทึบรังสีครั้งเดียว ทำให้คนไข้ได้รับรังสี และสารทึบรังสีน้อยลง ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลง สะดวกและรวดเร็วสำหรับแพทย์ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยอาการของโรค โดยเฉพาะสำหรับโรคที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ เสริมศักยภาพในการรักษาให้มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งต้องรีบรักษาอย่างทันที เพราะเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ มีอาการชาบริเวณแขน ขา ใบหน้า หรือบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย สับสน มีปัญหาทางการสื่อสาร พูดไม่เข้าใจ เห็นภาพซ้อน ตามัว (เพียงข้างเดียว) เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ วิงเวียน ทรงตัวไม่อยู่ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ เมื่อพบเห็นคนไข้มีอาการเหล่านี้ ให้รีบนำส่งแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ วินิจฉัยโรคและเตรียมการรักษาว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ คือ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการภายใน 8 ชม. หลังจากเกิดอาการ มีการตรวจพบหลอดเลือดอุดตันจากการตรวจเอ็กซเรย์ หรือการใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง ในการสร้างภาพโครงสร้างภายในหลอดเลือด หรือแพทย์จะตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง CT Angiogram (CTA brain) โดยแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อหาตำแหน่งที่มีการตีบตันของหลอดเลือด และ ตรวจหลอดเลือดสมองโดยการฉีดสีเข้าที่ขาหนีบ เพื่อดูการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง
ทางเลือกในการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษาที่ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดเส้นเลือด คือ การรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดขนาดใหญ่ตีบตันเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดที่อุดตัน จึงมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง วิธีการต่างๆ ถูกพัฒนาตั้งแต่การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดแดง เพื่อให้ยาเข้าไปถึงลิ่มเลือดที่อุดตันมากที่สุด ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อไปดึงหรือลากลิ่มเลือดนั้นโดยตรง และสุดท้ายมีการใส่บอลลูน ถ่างขยายเส้นเลือด และหรือใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Stent) แต่อย่างไรก็ตามการรักษาด้านนี้ควรจะเลือกใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ซึ่งไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้หรือผู้ป่วยที่มาเกิน 3 ชม.
รศ.นพ. คมกริช ฐานิสโร แพทย์รังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าเครื่อง Bi-plane DSAยังสามารถช่วยในการรักษาโรคเส้นเลือดได้หลายชนิด ไม่เพียงเฉพาะหลอดเลือดสมองเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาเพื่อขยายหลอดเลือดที่แขน ขา ให้ยาละลายลิ่มเลือดในโรคเส้นเลือดตีบ รักษาภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อวัยวะในช่องท้อง ตับ ไต ช่วยสลายก้อนเนื้องอกในมดลูก และรักษาโรคมะเร็งบางชนิดที่มีเลือดไปเลี้ยงปริมาณมากในบางอวัยวะ ใช้ใส่อุปกรณ์เพื่อบล็อคเส้นเลือดหรือให้ยาคีโม เป็นต้น ซึ่งเทคนิคและรูปแบบการรักษาแบบรังสีร่วมรักษาเหล่านี้ ต้องอาศัยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เป็นอย่างดี และต้องทำงานเป็นทีมและใกล้ชิดกับแพทย์เจ้าของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาในการร่วมกันดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือกุมารแพทย์ ฯลฯ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ
อาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าของการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษทางรังสี และเทคนิคต่างๆของ “รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology)" ทำให้รังสีร่วมรักษาได้รับการขนานนามให้เป็นเสมือน "การผ่าตัดที่ใช้เครื่องมือในการตรวจพิเศษต่างๆเป็นตัวชี้นำทาง" และได้รับการยกย่องให้เป็นโฉมหน้าใหม่ของการผ่าตัดในยุคนี้
แพทย์ที่จะมีความชำนาญในด้านนี้ต้องเป็นรังสีแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยการใช้ เครื่องมือในการตรวจพิเศษต่างๆที่ใช้ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง x-rays, ultrasound, computed tomography และ DSA เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นพยาธิสภาพในตัวของผู้ป่วย และชี้นำทางให้รังสีแพทย์สอดใส่เครื่องมือเข้าไปตามช่องต่างๆ ร่างกายเพื่อการตรวจรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้มักจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และนอนพักในโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัด