กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดตัว “โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” สนองนโยบายรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศและที่มีผลกระทบจากต่างประเทศ เฟ้นหา 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่มีศักยภาพเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วประเทศไทย เพื่อคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศและที่มีผลกระทบจากต่างประเทศ โดยมอบหมายให้หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จัดทำแผนงานโครงการเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการบริโภคและการลงทุน
โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นอีกโครงการหนึ่งภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลที่จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยมีความตื่นตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรม และการจัดการธุรกิจในรูปแบบใหม่โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยจะพัฒนาจังหวัดที่มีศักยภาพเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วประเทศไทย และคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ที่สามารถนำไปพัฒนาสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหรือบริการของจังหวัด ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
“นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เปลี่ยนจากสิ่งที่เรียกว่า มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Value Added Economy) ไปเป็น มูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Value Creation Economy) โดยมีหลักในการดำเนินการสำคัญ 3 ประการ ประการแรกคือการบริหารจัดการทุน ในที่นี้หมายถึงทุนทางวัฒนธรรม (Culture) หรือทุนทางบุคลากร ประการที่สอง คือ กระบวนการในการนำทุนนั้นมาทำให้เกิดเป็นสินค้าและบริการที่มีความต่าง (Differentiated Product or services Proceed) เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Value Creation Economy) ประการสุดท้าย คือใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ และความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การดำเนินการหลักทั้งสามประการนี้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การไหลเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลกเข้ามาสู่ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งก็หมายถึงการจ้างงาน การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายของแหล่งทุนจากทั่วโลกมายังท้องถิ่นนั้นๆ อันจะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั่นเอง” นายอลงกรณ์กล่าว
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง การคัดเลือก 10 จังหวัดจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่จะเป็นตัวอย่างและแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป สำหรับแนวทางในการคัดเลือกเมืองต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีดังนี้ 1. เมืองที่มีต้นทุนและปัญญาทางวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาพื้นบ้าน แหล่งท่องเที่ยว หรือสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และ 2.เมืองที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ ที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน เช่น มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม งานฝีมือ สินค้าเชิงสร้างสรรค์และการออกแบบ
“จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบจะได้รับการแสดงผลงานสร้างสรรค์ของเมืองเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์ของเมือง กระตุ้น สร้างความตระหนัก และสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนในจังหวัด/ท้องถิ่น/ชุมชน คิดสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายต่อยอดผลงานสร้างสรรค์ให้กับคนไทย รวมถึงการได้เข้าร่วมกิจกรรม Work Shop ซึ่งคณะทำงานจะจัดหาวิทยากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบ การพัฒนาสินค้าหรือบริการและการตลาดมาให้ความรู้แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 จึงถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554”