กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการอุบัติภัยทางทะเล และคลื่นพายุซัดฝั่ง(Storm Surge)ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย รวมทั้งสามารถประสานการปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุ การอพยพเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล
โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร มักเกิดอุบัติภัยทางทะเลบ่อยครั้ง และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดคลื่นลมแรงและคลื่นพายุคลื่นพายุซัดฝั่ง(Storm Surge)ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ดังนั้น ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการอุบัติภัยทางทะเล และคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยกำหนดฝึกซ้อมแผนฯ เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX ) เพื่อแบ่งมอบภารกิจ และซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางทะเล และคลื่นพายุซัดฝั่ง และฝึกซ้อมรูปแบบปฏิบัติการจริง(Field Training Exercise : FTX)
ในวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2553ณ บริเวณชายหาดอ่าวมะนาว กองบิน 5 อำภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยการฝึกซ้อมแผนฯดังกล่าวจะทำให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย รวมทั้งยังเป็นการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ และซักซ้อมขั้นตอนการประสานการปฏิบัติ การบัญชาการ การเผชิญเหตุ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางทะเล และคลื่นพายุซัดฝั่งได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นระบบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมรับมืออุบัติภัยทางทะเลและคลื่นพายุซัดฝั่งอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย