กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กรมควบคุมโรค
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศฮ่องกง หลังพบผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 59 ปีที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศจีน ติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 7 ปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงต้องประกาศยกระดับการเตรียมความพร้อมการรับมือไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไข้หวัดนกที่อาจกลับมาระบาดซ้ำ และเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้ป่วยได้ไปสัมผัสสัตว์ปีกหรือไปที่ฟาร์มสัตว์ปีกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ กระแสข่าวนี้ส่งผลให้หลายประเทศตื่นตัวและเตรียมความพร้อมรับมือหากไข้หวัดนกจะกลับมาระบาดขึ้นอีก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศเตือนให้โรคไข้หวัดนกเป็นโรคอันดับ 8 ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน (รายงาน ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553) มีผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกใน 15 ประเทศ รวม 508 ราย เสียชีวิต 302 ราย เฉพาะในปี พ.ศ. 2553 นี้ มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนก 40 คน เสียชีวิต 20 คน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน และกัมพูชา ส่วนรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบว่า มีโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกใน 13 ประเทศและเขตปกครอง ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง บัลกาเรีย อิสราเอล อินเดีย เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว เนปาล โรมาเนีย สำหรับประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมามากกว่า 4 ปีแล้ว
ปัจจุบัน การแพร่ติดต่อของเชื้อไข้หวัดนกจากผู้ป่วยยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ประชาชนจึงยังไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปฮ่องกง รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนก แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือเข้าไปที่ตลาดขายสัตว์ปีกมีชีวิต ควรรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลังจากกลับจากต่างประเทศที่มีโรคนี้ระบาด หากมีอาการไข้ ไอ ควรรีบไปโรงพยาบาล และแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกของประเทศไทย จะใช้ประสบการณ์การป้องกันควบคุมไข้หวัดนกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจะติดตามและประเมินสถานการณ์ไข้หวัดนกในฮ่องกงและประเทศอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคเพื่อเตรียมพร้อมในทุก ๆ ด้าน แต่จะยังไม่แนะนำให้ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีผู้ป่วยไข้หวัดนก เนื่องจากการติดต่อจากคนสู่คนยังเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่จะยังคงระดับการเฝ้าระวังโรคในสัตว์และในคนให้เข้มแข็ง ทั้งสัตว์ปีกในพื้นที่ ผู้ป่วยในชุมชนและในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถตรวจพบสัตว์ป่วยและผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในประเทศและพื้นที่ชายแดนติดต่อประเทศที่มีการระบาด ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข ปศุสัตว์ ท้องถิ่น อสม. และชุมชน รวมทั้งการรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติทันที เพื่อควบคุมการระบาดได้รวดเร็วไม่ให้มีการแพร่ติดต่อมายังประชาชน พร้อมทั้งเผยแพร่คำแนะนำการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่และสถานการณ์ความเสี่ยง โดยควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ เป็ด ที่ป่วยหรือตายจากไข้หวัดนก การติดเชื้อเกิดขึ้นขณะชำแหละ อุ้มสัตว์ปีก ดูดเสลดไก่ชน รวมทั้งกินไก่ เป็ด หรือเครื่องในที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025903000 สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค