กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กทม.
กทม.จัดกิจกรรมเนื่องในวันเอดส์โลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ Stop AIDS : Hope Help & Share “เติมเต็มความหวังยับยั้งเอดส์” เพื่อกระตุ้นและสร้างกระแสให้กลุ่มเป้าหมายได้ตระหนักถึงปัญหาเอดส์ มีบทบาท และเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างจริงจัง เพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2553 พร้อมด้วย พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความ
สำคัญต่อการแก้ปัญหาเอดส์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดให้มีการทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ทุก 5 ปีอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นฉบับที่ 4 โดยมีวิสัยทัศน์ของแผนฯ คือ “กรุงเทพมหานครเป็นต้นแบบในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์แบบบูรณาการ และยั่งยืน” เน้นการบูรณาการงานด้านเอดส์ร่วมกันระหว่างหลายภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนด้านเอดส์ ชุมชน และกลุ่มผู้ติดเชื้อจากหลายองค์กร
พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2527 ถึง 31 ต.ค. 2553 มีผู้ป่วยเอดส์สะสม 41,710 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 32,403 ราย อายุที่พบมากที่สุดอยู่ในวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 30 — 34 ปี ร้อยละ 23.37 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25 — 29 ปี ร้อยละ 19.22 เมื่อจำแนกข้อมูลตามที่อยู่ปัจจุบันเป็นรายเขตพบว่า จำนวนผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ในปี 2553 (มกราคม-พฤศจิกายน) พบมากที่สุดในเขต จำนวน 146 ราย (เป็นยอดการรายงานจากฑัณฑสถานโรงพยาบาลราชฑัณฑ์จำนวน 117 ราย) รองลงมาคือเขตธนบุรี จำนวน 56 ราย เขตบางขุนเทียน จำนวน 49 รายและเขตดินแดง จำนวน 45 ราย
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เอดส์เป็นโรคเรื้อรังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าติดเชื้อ ณ วันใด เวลาใด ซึ่งระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะแสดงอาการส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 จะใช้เวลา 7-10 ปี แสดงว่าการติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น คือ อายุประมาณ 15 — 20 ปี และข้อมูลจากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่ายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละปีใกล้เคียงกันเฉลี่ยที่ 2,400 คน ในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 — 24 ปี และจากข้อมูล การเฝ้าระวังพฤติกรรมในกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 15 — 24 ปี พบว่าอายุของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอยู่ที่ 16 ปี และมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับบุคคลต่างๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือไม่ถึงร้อยละ 30
จากข้อมูลสถานการณ์ข้างต้นทำให้ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครโดยกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่น โดยทุกปีจะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก และในปีนี้ใช้ชื่องานว่า Stop AIDS : Hope Help & Share เติมเต็มความหวัง ยับยั้งเอดส์ ซึ่งมีกิจกรรม การจัด Road Show ในสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานครมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อม และอายุที่ควรจะมีเพศสัมพันธ์คือหลังจากเรียนหนังสือจบ พร้อมทั้งใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแส บริเวณชุมชน และสถานที่ใกล้เคียงรอบโรงเรียนที่จัด Road Show ระหว่างเดือนสิงหาคม — กันยายน 2553 นอกจากนี้มีการจัดเสวนาด้านเอดส์ การประกวดหนังสั้นด้านเอดส์ในกลุ่มเยาวชน โดยจะมีการประกาศผลและมอบรางวัลผู้ชนะการประกวด โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ) ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553 เวลา 09.00 — 15.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลซ และมีการให้บริการเจาะเลือดหาการติดเชื้อเอช ไอ วี ฟรี ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 — 1 ธันวาคม 2553 ในเวลาราชการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของสำนักอนามัยทั้ง 68 แห่ง ตลอดจนมีการจัดสัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 76 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 435 แห่ง ชุมชนต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ร่วมใจต้านภัยเอดส์ และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน