กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะยกเหตุผลใดมาอ้างก็ล้วนมีส่วนถูก เช่น เกิดจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหล ฯลฯ แต่สิ่งที่ขาดหายไปท่ามกลางภาพการช่วยเหลือแจกของ แจกเงิน เยียวยาผู้ประสบภัย คือการมองภาพใหญ่ของประเทศและการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ แหล่งดูดซับน้ำธรรมชาติที่จะสามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มได้ส่วนหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุปนกันอยู่ โดยสภาพการใช้น้ำในปัจจุบันมีลักษณะทั้งการใช้น้ำข้ามสาขาการผลิต การขยายพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มขึ้นและบางส่วนก็ขยายไปในพื้นที่อนุรักษ์การทำเกษตรเพิ่มขึ้นยอมต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เข้ามาใช้พื้นที่และต้องการใช้น้ำเช่นกัน
ที่ผ่านมามีผู้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการ แม้สำคัญแต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เช่น การเตรียมความพร้อมชุมชน เฝ้าระวังปัญหาน้ำหลาก เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและมีประโยชน์ในบางลักษณะ เช่น กรณีมีน้ำปริมาณมากหลากมาคืนเดียวถึงหลังคา คงไม่สามารถกั้นไม่ให้ท่วมได้ แต่สามารถแจ้งเตือน อพยพได้ทันก็ช่วยลดความสูญเสียได้ ส่วนการมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ หากระดับน้ำท่วมประมาณครึ่งเข่าหรือ ราว 50 เซนติเมตร ปัญหานี้มีส่วนถูก เพราะทำให้น้ำไม่มีทางไป ระบายออกได้ช้า จึงท่วมขัง แต่กรณีน้ำมันหลากมาแค่ข้ามคืนท่วมถึง 2-3 เมตร น่าจะอยู่ที่สาเหตุอื่นด้วย
จากงานศึกษาวิจัยมีข้อมูลที่สะท้อนออกมาซ้ำซาก คือ เรื่องความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำแทบไม่มีแล้ว จากสภาพป่าที่เหลือน้อยเต็มที และในช่วง 2-3 เดือนที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ยังมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่มีสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เช่น ช่วงนี้น้ำท่วมแล้วอีกไม่นานจะมีปัญหาน้ำแล้ง การที่ปัญหาสองอย่างมันเกิดขึ้นในเวลาห่างกันไม่นาน ผิดปกติ ย่อมฟ้องถึงปัญหาการขาดความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฉะนั้นการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ จะมีส่วนที่จะช่วยควบคุมการไหลของน้ำและน่าจะช่วยป้องกัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วย แต่คงไม่ช่วยทั้งหมด ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นด้วย
ดร.อดิศร์ กล่าว่า หัวใจน่าจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติบ้าง เช่น รักษาพื้นที่ต้นน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่การลงทุนในระบบชลประทานยังมีความจำเป็น เช่น การทำทางไหลของน้ำคงต้องทำบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเอาเงินงบประมาณนับแสนล้านไปทำระบบชลประทานอย่างเดียว ไม่น่าจะเป็นคำตอบ หรือถ้าปล่อยให้พื้นที่ต้นน้ำโล่งเตียนแล้วมัวแต่ลงทุนทำแก้มลิง ก็คงพรุนไปทั้งประเทศหรือ จึงอยากเสนอให้มีการหาแนวทางที่ครบวงจร ดูสาเหตุแท้จริง แล้วทำการป้องกันในหลาย ๆ จุด ไม่ใช่ทำเฉพาะการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับเฉพาะงบสิ่งก่อสร้างเท่านั้น การสร้างธรรมชาติกลับคืนมาก็น่าจะใช่ด้วย เพราะป่าไม้มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำ ทั้งน้ำหลาก น้ำแล้ง รวมทั้งดินถล่ม ซึ่งป่าธรรมชาติมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำดีที่สุด สัญญาณเตือนของธรรมชาติครั้งนี้เรียกร้องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้น้อยเกินไป ควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ กล่าวคือ 1) ควรมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดูแลการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนให้เข้มข้น 2) การสร้างเขื่อนอาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอจากจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้นและต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้นน้ำซึ่งทำการเกษตรที่ต้องการใช้น้ำมากขึ้น ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับคนพื้นราบ 3)การมองการบริหารจัดการน้ำเป็นจังหวัด แล้วปล่อยให้แต่ละจังหวัดสร้างเขื่อนกั้นสองฟากแม่น้ำตามอำเภอใจเพื่อไม่ให้จังหวัดตัวเองน้ำท่วม การแบ่งพื้นที่อย่างเลือกปฏิบัติ เช่น ปกป้องบางพื้นที่ไม่ให้ท่วมแต่ให้น้ำไปท่วมในพื้นที่อื่นแทน ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้เกิดคำถามกินใจว่า “สิทธิในการป้องกันพื้นที่ตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน” นโยบายการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องกินใจและท้าทาย คำตอบจึงต้องดูระบบใหญ่ ๆ ทั้งหมด
ดร.อดิศร์ กล่าวว่า การแก้เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 4-5 ปี ถ้าไม่มีพระเอกขี่ม้าขาว หรือคนที่สามารถเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันดูภาพใหญ่ ให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งบทบาทนี้นายกรัฐมนตรีควรเป็นหัวหน้าทีมด้วยตัวเอง หากปล่อยให้หน่วยงานทำเองไม่มีทางเจอคำตอบ เพราะแต่ละหน่วยงานถูกจำกัดด้วย พรบ.จัดตั้งหน่วยงาน จึงไม่สามารถทำอะไรเกินกรอบกฎหมายได้ การที่กรุงเทพฯจะเอาเงินไปช่วยอยุธยา อ่างทองจึงเป็นไปได้ยาก ต้องทำในรูปแบบอื่น นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบภัยนับเป็นเรื่องดี แต่อยากเสนอรัฐบาลให้เจียดงบประมาณส่วนหนึ่งที่นำไปแจกได้อย่างถูกกฎหมายนั้นถูกนำไปใช้เพื่อการไขปัญหาพื้นฐานบ้าง เช่น การฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลกระทบทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มได้.