กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง คลอดระเบียบอุดหนุนรัฐวิสาหกิจขาดทุน เชื่อมั่นจะส่งผลให้รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และกลายเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (21 สิงหาคม 2550) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ พ.ศ. .... (Public Service Obligation : PSO) เพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยผลขาดทุนแก่รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาตรวจร่าง ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และนำเสนอเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2550 นี้
สำหรับเงื่อนไขของการขอรับเงินอุดหนุน คือ ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่ให้บริการสาธารณะด้านสาธารณูปโภค และประสบผลขาดทุนจากการควบคุมราคาค่าบริการจากรัฐบาล โดยรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องจัดทำบัญชีแยกรายได้และค่าใช้จ่ายของบริการสาธารณะออกจากบริการเชิงพาณิชย์ และต้นทุนการให้บริการสาธารณะ ทั้งนี้รัฐจะจ่ายเงินชดเชยตามจำนวนส่วนต่างระหว่างราคาค่าบริการที่ถูกรัฐกำหนดกับต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการให้เงินอุดหนุน จะมีคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ที่มี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาข้อเสนอของรัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้ในการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการให้บริการสาธารณะต่อรัฐบาล และประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้กับรัฐวิสาหกิจรายใด กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมีสำนักงบประมาณเป็นผู้จัดสรรเงินให้ต่อไป
“ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจบางแห่งต้องประสบภาวะขาดทุนอันเกิดจากภาระหนี้สะสม เพราะต้องให้บริการในราคาถูกแก่ประชาชนจากการควบคุมค่าบริการของรัฐ ซึ่งหากปล่อยให้ขาดทุนต่อไป จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการให้บริการในระยะยาว ดังนั้น เมื่อร่างระเบียบฉบับนี้ประกาศใช้ นอกจากจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานในราคาที่เหมาะสม และได้รับบริการที่ดีแล้ว รัฐวิสาหกิจก็ไม่ต้องประสบปัญหาขาดทุน สามารถดำเนินธุรกิจ และพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพต่อไป” นายอารีพงศ์ กล่าว