กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สคส.
คนในชุมชนแออัดทุกคนอยากมีชีวิตดีขึ้น ชุมชนอาคารสงเคราะห์ จ.พระนครศรีอยุธยาใช้การจัดการความรู้สร้างความเข้มแข็งของชนด้วย การกระบวนการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดบ้านมั่นคงและกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันของเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุในชุมชนที่ทำให้เกิดการส่งต่อองค์ความรู้ และสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
ชุมชนอาคารสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ชุมชนในเมืองเก่าพระนครศรีอยุธยาที่ดำรงสถานภาพของการเป็น “ชุมชนแออัด” มายาวนานหลายสิบปี เดิมชุมชนแห่งนี้เป็นสลัม เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุที่เทศบาลเช่า ผู้คนมาจากหลายพื้นที่อยู่กันอย่างแออัด ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาความยากจน เป็นหนึ่งในชุมชนเป้าหมายที่ต้องการถูกรื้อย้าย เมื่ออยุธยากลายเป็นเมืองมรดกโลก
แต่ไม่ว่าอย่างไร ความหวังของคนชุมชนแออัดล้วนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่เพียงเรื่อง ของสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่ยังรวมไปถึงการสร้างเงื่อนไขด้านอื่นให้หน่วยงานระดับนโยบายเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วนั้น ชุมชนแออัดหากมีวิธีการจัดการที่ดีพอ ย่อมสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
การร่วมกันคิดและทำเพื่อเดินไปสู่จุดหมายจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในชุมชนอาคารสงเคราะห์แห่งนี้ ภายใต้การนำของผู้นำที่มาจากคนใน เกิดและเติบโตมากับชุมชน จึงเข้าใจและมุ่งมั่นจะพัฒนาชุมชน
ผู้นำจากคนใน ใช้ความรู้สร้างความมั่นใจ
ภายใต้ความคิด “ปลดเปลื้องจากความเป็นสลัม” แกนนำชุมชนอย่าง เจริญ ขันธรูจี ที่เข้าใจและมุ่งมั่นจะพัฒนาชุมชน เพราะเติบโตมากับชุมชน จึงอาสาพาชุมชนให้หลุดออกจากความเป็นชุมชนแออัด
ในฐานะกนนำชุมชน “เจริญ” มีโอกาสได้คลุกคลีและร่วมเรียนรู้ กระทั่งร่วมงานกับกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ มากมาย อาทิ พัฒนาชุมชนเมือง เทศบาล ศูนย์การแพทย์ การศึกษานอกโรงเรียน กองทุนเพื่อสังคม การเคหะแห่งชาติ เขาสามารถใช้ความรู้และความสัมพันธ์จากกลุ่มและองค์กรเหล่านั้นกลับมาพัฒนาชุมชนตนเองอย่างเป็นระยะ ๆ เช่น ทำศาลาที่ประชุมของชุมชนโดยประสานงานของบประมาณไปยังเทศบาลเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการพบปะพูดคุยของคนในชุมชน ตั้งกลุ่มอาสาสาธารณสุขขึ้นในหมู่บ้าน รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่จากการศึกษานอกโรงเรียนให้มาอบรมอาชีพให้ชาวบ้านถึงในชุมชน
เรียนรู้จากปัญหา คำตอบอยู่ที่บ้าน
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ หลังจากที่เขาได้ไปศึกษาและเรียนรู้แบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของชุมชนแออัดที่จังหวัดพิษณุโลกของโครงการบ้านมั่นคง และที่นั่นเขาเห็นความร่วมมือกันของคนทั้งชุมชน เห็นกฎระเบียบที่ชาวบ้านร่วมกันตั้งขึ้น และเห็นถึงความสมานฉันท์ และความสามัคคีที่ในชุมชนที่เขาอยู่ยังมีอยู่น้อยนิด จึงกลับมาชวนชาวบ้านพูดคุยกัน โดยโยนคำถามต่าง ๆ มากมายให้สมาชิกในชุมชนช่วยกันขบคิด พร้อม ๆ ไปกับการเล่าให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงจากการถูกเพลิงไหม้ในช่วงหน้าแล้ง และปัญหาน้ำท่วมบ้านในช่วงฤดูฝน ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี และการ “รื้อย้าย”ที่ต้องเกิดขึ้น จะทำอย่างไร
“เจริญ”พยายามชวนชาวบ้านคิดในหลาย ๆ มุม พยายามชี้ให้เห็นถึงความแออัดที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคต โดยเฉพาะกับคนรุ่นถัดไป พวกเขาจะใช้ชีวิตกันอย่างไร หากสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนยังไม่หนีจากความเป็นสลัม และใช้ชีวิตเหนือน้ำคลำดังในอดีตที่ผ่านมา และแนวคิดให้มีการรื้อบ้านและปลูกสร้างอาคารใหม่ที่แข็งแรงและมั่นคงกว่าถูกเสนอขึ้นกลางเวที พร้อมกับเสียงชาวบ้านหลายคนแย้งว่า หากมีการรื้อย้าย เทศบาลซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อาจจะใช้จังหวะดังกล่าวเข้ามากันและไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้ามาในพื้นที่เหมือนเดิม
“เราต้องรวมตัวกันเพราะถ้าเราไม่ไปซะอย่างก็ไม่มีคนมากล้าไล่” เจริญย้ำกับชาวบ้าน และอาสาเดินขึ้นไป ณ ที่ทำการเทศบาลเพื่อยืนยันเอาคำตอบ กลับมาบอกให้ชาวบ้านมั่นใจว่า เทศบาลจะยังคงให้พวกเขาอยู่ตรงบริเวณเดิมต่อไปหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ เทศบาลยืนยันจะให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป
ด้วยสภาพที่ชุมชนยังไม่รู้จะไปทางไหนกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เจริญจึงนำแนวคิดเรื่องการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ที่ได้เรียนรู้มาจากกลุ่มออมทรัพย์ในจังหวัดตราด มาใช้กับชุมชน ด้วยหลักคิดที่ว่าชุมชนต้องเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาไม่ต้องรอให้คนนอกมาช่วย การตั้งกลุ่มออมทรัพย์จึงเกิดขึ้น (ปี 2541) และเป็นการออมในช่วงแรก ๆ ของชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกในการประกอบอาชีพ โดยเริ่มจากสมาชิก 86 คน ตกลงออมเงินกันครอบครัวละ 100 บาท ทำเพียงปีกว่า ๆ ก็ได้เงินเข้ากลุ่มประมาณ 3 แสนบาท และจากกลุ่มออมทรัพย์นี้ต่อมาจึงเป็นการออมเพื่อนำเงินไปผ่อนชำระการปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ เมื่อชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวคิดรื้อบ้าน
ชุมชนร่วมกันออกแบบบ้านในฝัน
การสร้างบ้านหลังใหม่ของชุมชนที่ต้องใช้เงินมหาศาลแล้วจะเอามาจากไหน หลัก ๆ ก็มาจากเงินที่มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเพื่อใช้ทำสาธารณูปโภคในชุมชนจำนวน2,460,000 บาท ซึ่งเงินนี้หากเอามาใช้ทำในแบบเดิม ๆ ซึ่งต้องมีการรื้อบ้านที่ปลูกเพิ่มเติมก็จะเกิดปัญหากระทบกระทั่ขึ้นได้ จึงมีการคุยกันในคณะกรรมการชุมชน ในที่สุดก็ขอไปคุยวางแผนกันให้ชัด ๆ ว่าจะบริหารเงินนี้ให้เกิดประโยชน์และแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างไร จึงไปคุยกับเทศบาลขอชะลองบไว้ก่อน ซึ่งเทศบาลก็เห็นด้วยและโอนเงินมาไว้ที่กองคลัง
เจริญ กล่าวว่า หลังจากคุยกันบ่อย ๆ เข้า ก็ได้ข้อสรุปว่าถ้าต้องการแก้ไขปัญหา ควรปรับโฉมพื้นที่ แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ แต่เป็นงานใหญ่ชุมชนทำเองไม่ได้จึงไปขอความช่วยเหลือจากโครงการบ้านมั่นคงส่งสถาปนิกมาเป็นพี่เลี้ยงช่วยออกแบบบ้านตามที่ชุมชนต้องการ ซึ่งในชุมชน 66 ครัวเรือนเรามีการแบ่งกลุ่มกันออกแบบบ้าน ทำผังชุมชนออกมา และพบว่ามีการสะท้อนเรื่องพื้นที่ส่วนกลาง เนื่องจากที่เป็นอยู่เดิมนั้นไม่มีพื้นที่ส่วนกลางที่คนในชุมชนจะมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เลย เมื่อได้แบบและความต้องการคร่าว ๆ จึงส่งต่อให้สถาปนิกตัวช่วยออกแบบให้ จนได้ออกมาเป็น โมเดลบ้านที่อธิบายให้เป็นความเป็นชุมชนอาคารสงเคราะห์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมต่อไปถึงการทำงานวิจัยค้นหาประวัติศาสตร์ชุมชนร่วมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ของชุมชน เพื่อการส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปของชุมชน
บ้านมั่นคง ความสำเร็จแรกของชุมชน
เมื่อได้แบบบ้านที่ชุมชนต้องการ ก็วางแผนเตรียมการไว้ว่า ระหว่างปลูกบ้านใครที่มีญาติก็ไปอาศัยกับญาติก่อน คนที่ไม่มีญาติก็ทำที่พักให้อยู่ชั่วคราวแล้วช่วยกันออกค่าน้ำค่าไฟ ในที่สุดบ้านหลังใหญ่ 2 ชั้นก็สร้างเสร็จ ทุกครอบครัวก็ย้ายเข้ามาอยู่โดยใช้วีธีจับฉลากเพื่อความยุติธรรม สำหรับค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้ออกให้ก็ให้แต่ละครอบครัวผ่อนชำระเดือนละ 750 บาท นาน 30 ปี
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนอาคารสงเคราะห์ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นชุมชนแรกที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เป็นต้นแบบแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนเมืองในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ชุมชนอาคารสงเคราะห์จึงเป็นสถานที่ศึกษา และดูงานของชุมชนแออัดจากพื้นที่อื่น ๆ ประธานชุมชนจึงต้องตอบคำถามเดิม ๆ อยู่เป็นประจำ เช่น เลือกแบบอย่างไร ราคาเท่าไหร่ เก็บเงินกันอย่างไร ตลอดจนมีรูปแบบและแนวทางในการทำงานอย่างไรจึงเป็นชุมชนเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้
จากประเด็นเหล่านี้ คุณเจริญ ขันธรูจี ซึ่งเป็นประธานชุมชนจึงประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางและรูปแบบในการรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนขึ้น และจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และสิ่งที่ชุมชนอาคารสงเคราะห์ทำมาจะเป็นการเรียนรู้ที่ส่งต่อเพื่อนอย่างไร ประเด็นสำคัญคือ จะส่งผ่านเรื่องราวการต่อสู้นี้ให้ลูกหลานอย่างไร เพราะพวกเขาคืออนาคตของชุมชน
เพื่ออนาคต...ต้องรู้อดีต เรียนรู้จากงานวิจัย
ในเส้นทางการเดินสู่เป้าหมาย นอกจากกลุ่มองค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่ชุมชนอาคารสงเคราะห์ได้เกาะเกี่ยวเป็นพันธมิตรด้วยแล้วนั้น หน่วยงานหนึ่งที่ชุมชนยังเข้าร่วมในกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานภาค ในนามสถาบันกรุงเก่าเพื่อการพัฒนา
บ่อยครั้งที่”เจริญ”มีโอกาสเข้าไปร่วมฟัง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนในเครือข่ายวิจัยอื่น ๆ พร้อมกับได้ฟังแนวคิด “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” และเขาคิดว่านี่อาจเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชาวบ้านในชุมชนอาคารสงเคราะห์จะได้ร่วมกัน “บันทึก”ประวัติศาสตร์ที่ได้ร่วมต่อสู้ ร่วมสร้าง และพัฒนาชุมชนมาด้วยกัน
“เจริญ” กลับมาพูดคุยกับชาวบ้าน หารือและอธิบาย แนวคิด วัตถุประสงค์ และเป้าหมายสำคัญของการต้องทำวิจัย ว่าจะเริ่มต้นโครงการกันอย่างไร คำตอบที่จะร่วมกันค้นหาคืออะไร เพื่อให้ได้ประเด็นที่คนในชุมชนต้องการ เมื่อได้ประเด็นที่ครอบคลุมและครบถ้วน ทีมวิจัยซึ่งมีเจริญเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ประชุมเพื่อกำหนดประเด็นร่วมกัน พร้อมทั้งแบ่งกลุ่ม จัดทีมเก็บข้อมูลออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีแนวคำถามคร่าว ๆ ที่ทีมวิจัยและชาวบ้านช่วยกันกำหนด ทั้งนี้อยู่ภายใต้เนื้อหาที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคก่อตั้ง ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต ยุคกิจกรรม และยุคสร้างสวัสดิการ
ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ข้ามรุ่น หาความรู้จากข้างในของชุมชน 4 ยุค
ทีมวิจัยดึงเด็กเข้ามามีร่วมรับรู้เรื่องราว กระบวนการการต่อสู้ รวมไปถึงทิศทางในอนาคตของชุมชน โดยให้เด็ก ๆ แบ่งกลุ่มและออกไปสัมภาษณ์ พูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชน ด้วยคำถามที่ตัวเด็ก ๆ อยากรู้ โดยมีกรอบ หรือแนวคำถามที่ทีมวิจัยร่วมกันกำหนดขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนในแต่ละยุค คือ
ยุคก่อตั้ง (พ.ศ.2502- 2509) เป็นข้อมูลการเข้ามาอาศัยของคนในรุ่นแรก ๆ ข้อมูลด้านทำมาหาเลี้ยงชีพ สภาพแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนปัจจัยจากภายนอกที่มีผลกระทบต่อการเปลี่นแปลงของชุมชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเยาวชนที่ร่วมกันเก็บข้อมูลซึ่งเป็นเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เรียนรู้ถึงสภาพของชุมชน สภาพชีวิตและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของกลุ่มคนในยุคแรก ๆ และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นสมาชิกของชุมชนอาคารสงเคราะห์
ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต (พ.ศ.2510- 2525) มีการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้หลายอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั้งชุมชน กล่าวคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพขายอาหารตรงบริเวณสถานีขนส่ง กระทั่งเมื่อทางการย้ายสถานีออกไปนอกเมือง และมีการสร้างด่านเก็บเงินที่ อ.บางปะอิน ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ชาวบ้านใช้คำว่า “ความฟุ่มเฟือยเดินหน้าเข้ามาในชุมชน” บางรายกินยาบ้าเพื่อให้ทำงานได้มาก ๆ และต่อมา “กรมทางหลวง” มีมาตรการห้ามขายของที่ด่าน ลุงยงค์จึงพากลุ่มชาวบ้านเพื่อเรียกร้องต่อ ส.ส.มนตรี พงษ์พานิช ในสมัยนั้น ข้อมูลในยุคนี้ ทำให้กลุ่มเด็กเรียนรู้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ
ยุคกิจกรรม (พ.ศ.2526-2538)เปลี่ยนจากผู้นำรุ่นแรกมาเป็นรุ่นลูก (เจริญ ขันธรูจี) มีกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชุมชนที่สำคัญคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การไปปฎิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น เช่น การทำผ้าบาติก
ยุคสร้างสวัสดิการชุมชน (พ.ศ.2539 — ปัจจุบัน) หลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 ชุมชนอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ชาวบ้านเริ่มกลับมาทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคิดจะยกระดับคุณภาพชีวิตจึงเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัยจนกระทั่งกลายเป็นชุมชนต้นแบบในที่สุด
คลังความรู้ที่ได้
การให้เด็ก ๆ ออกไปเก็บข้อมูล เป็นเสมือนการให้กลุ่มเด็กได้รับรู้พัฒนาการของชุมชน ปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต เพราะกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จะต้องเป็นผู้ที่มารับช่วงการดูแลชุมชนต่อจากกลุ่มผู้ใหญ่ การวาดภาพประทับใจของกลุ่มเด็กที่ออกไปเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นภาพสะท้อนชีวิตในอดีต เช่น ภาพในยุคก่อตั้ง ที่มีก็อกน้ำกลางหมู่บ้านเพียงอันเดียว แต่ใช้ทั้งหมู่บ้าน มีการถามทุกข์สุขกัน ทำให้รู้ว่าใครทำอะไร ภาพวิ่งไล่รถบัสเพื่อขายของ ภาพการช่วยเหลือกันพัฒนาหมู่บ้าน รวมถึงภาพการทำบาติก มีการทำแผนที่ชุมชน มีทั้งการทำแผนที่ภายในและภายนอกชุมชน วิธีการคือ ให้เด็ก ๆ แบ่งออกเป็น 2 ทีม คือทีมทำแผนที่ภายใน และภายนอก เด็ก ๆ จะคิดวิธีการของเขาขึ้นมาเอง เช่น วัดระยะจากชุมชนไปที่วัด หรือไปยังสถานสำคัญ ๆ ด้วยการนับก้าวจากนั้นก็นำแผนที่ซึ่งเป็น “แบบร่าง” มาสรุปกันอีกครั้งโดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นคนให้คำปรึกษา และเติมข้อมูลในส่วนที่ยังไม่ครบ นอกจากนี้ยังมีการทำผังเครือญาติของคนในชุมชน โดยเฉพาะในตระกูลหลัก ๆ และตระกูลที่ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังมีการจัดเสียงตามสายในชุมชนอีกด้วย ข้อมูลที่ได้จึงถูกเก็บไว้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งบันทึก ภาพวาด แผนที่ ผังเครือญาติ ฯลฯ
กระบวนการเรียนรู้ที่ยังเคลื่อนต่อ
จะเห็นได้ว่า ... ชุมชนอาคารสงเคราะห็ได้กำหนดเป้าหมายไว้ร่วมกันอย่างชัดเจน ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนอาคารสงเคราะห์เข้มแข็ง ก็คือการมีผู้นำที่ดี เป็นคนในพื้นเพในชุมชน เข้าใจและมุ่งมั่นพัฒนาชุมชน เรียนรู้การต่อสู้ในอดีต มีการรวมตัวของชุมชน ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา มีกติการร่วมกัน ใช้วิกฤติเป็นแรงให้เกิดความร่วมมือ คนในชุมชนมีความร่วมมือกันอย่างอัตโนมัติ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นปกติวิสัย รู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน พยายามดึงและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนตามความถนัด
กระบวนการจัดการความรู้ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือ เป็นชุมชนที่ สร้างความรู้ใช้เอง ขยาย ถ่ายทอด ลองทำอยู่ตลอดเวลา มีการหาความรู้จากภายนอกมาปรับใช้ในชุมชนอยู่ตลอดเวลา สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลางชุมชน เชื่อมโยงความรู้ของแต่ละกลุ่มในชุมชนเพื่อสร้างเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลาจากหน่วยงานหรือภาคีต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น สสจ. มหิดล ราชการ ชุมชนอื่น มีการถ่ายทอดความรู้ มีการจดบันทึกหลายรูปแบบ มีการตรวจสอบความถูกต้องของ “ขุมความรู้” และนำมาปรับแก้ตลอดเวลา ใช้ความรู้ชุดเล็กๆเป็นตัว ใช้ระบบพี่เลี้ยง (peer assist) และมีการให้รางวัล (พาไปดูงาน) ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ทำให้เกิดพลังชุมชนที่จะร่วมกันนำพาชุมชนอาคารสงเคราะห์ให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง.
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--