กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--
ออกอากาศ ละครก่อนข่าว จันทร์ - อาทิตย์ 18.45 น.
บทประพันธ์ ธูปทอง
บทโทรทัศน์ แพรพริมา
กำกับการแสดง ธงชัย ประสงค์สันติ
ผู้ผลิต พอดีคำ จำกัด
เรื่องย่อ
เสียงปี่พาทย์ขับขานท่วงทำนองไพเพราะเสนาะหู กำปั้น (ศรัณย์ ศิริลักษณ์) เด็กหนุ่มวัยเพิ่งแตกพานร่ายรำท่วงท่าของศิลปะโขนได้อย่างวิจิตรและงดงาม ท่วงท่าอันอ่อนช้อย เรียกความสนใจจากผู้ชมไม่ให้ละสายตา แต่ใครจะรู้ว่าเด็กหนุ่มหน้ามนคนนี้...ชีวิตเขาไม่ได้ถูกลิขิตมาเพื่อเป็น...โขน แต่ถูกขีดเส้นทางเดินเอาไว้แล้วว่า...เขาต้องเป็นแชมป์มวยไทยเท่านั้น !!!
10 กว่าปีก่อน สนามมวยเวทีราชดำเนิน คำรณ หรือ “พยัคฆ์คำรณ” (วินัย ไกลบุตร) นักมวยไทยดาวรุ่งที่กำลังเจิดจรัสบนเวที ตั้งใจเอาชนะคู่ต่อสู้เพื่อเข็มขัดแชมป์ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย หวังเป็นรางวัลให้กับลูกชายคนเล็กที่กำลังจะลืมตาดูโลกในอีกไม่นาน แต่แม้จะใส่หัวใจสิงห์สู้ยิบตา เข็มขัดแชมป์อยู่แค่เอื้อมแล้วก็ตาม คำรณก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับคู่ชกเพราะถูกโกงบนเวที แต่นั่นยังไม่น่าเจ็บใจเท่ากับการถูกพวกมาเฟียในวงการมวยที่ไม่พอใจในความพ่ายแพ้ของคำรณ สั่งเช็คบิลด้วยความตาย สายทอง (ฐรินดา กรรณสูต) เมียรักของคำรณเอาตัวปกป้องสามีจากกระสุนปืน ช่วงเวลาเป็นและตายที่เหลือ สายทองเลือกชีวิตของลูกน้อยในท้องแทนที่ชีวิตตัวเอง เพราะคิดว่าวันนึงข้างหน้าคำรณจะเลี้ยงลูกชายของเธอให้เป็นชายหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความดีเหมือนกับชายที่เธอรัก คำรณให้สัญญากับเมียรักและตั้งชื่อให้เด็กน้อยหน้าตาน่าเอ็นดูคนนี้ว่า...กำปั้น ชื่อแห่งเกียรติยศที่จะต้องมาสานฝันของพ่อให้จงได้
กำปั้นเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดของคำรณ ที่ปูทางทุกอย่างไว้สู่เส้นทางการเป็นนักมวย เหมือนกับที่เขากำลังพยายามปลุกปั้น สังเวียน (พิชยดนย์ พึ่งพันธ์) ลูกชายคนโตที่กำลังก้าวสู่อนาคตของนักมวยอย่างที่คำรณหวัง ฝีมือการชกของสังเวียนเป็นที่ถูกใจค่ายมวยเจริญชัยของ เฮียอ๋า (ศตวรรษ ดุลยวิจิตร) แถมสังเวียนยังไปชอบพออยู่กับ หลิว (กัญญา รัตน์เพชร์) เด็กสาวใจแตกเอาแต่ใจตัวเองลูกสาวของเฮียอ๋าที่เฮียอ๋าไม่ห้ามให้คบกันเพราะเฮียอ๋าอยากได้เด็กฝีมือดีอย่างสังเวียนมาอยู่สังกัด คำรณนับถือเฮียอ๋าเหมือนพี่และมักจะไปสุงสิงเป็นเป้าล่อซ้อมให้พวกนักมวยเป็นประจำ เพราะปัจจุบันคำรณมีอาชีพขับแท๊กซี่เป็นอาชีพหลักไม่ได้ยึดทางมวยหากินเนื่องจากกระสุนปืนเมื่อในอดีตทำให้คำรณขาเป๋ไปข้างหนึ่ง คำรณภาคภูมิใจที่สามารถปั้นสังเวียนให้เป็นไปในทางที่ตัวเองต้องการแล้ว จึงคิดว่ากำปั้นก็น่าจะจับมาปั้นได้ไม่ยาก แต่หารู้ไม่ว่าทุกๆ วันหลังจากที่คำรณขับรถไปส่งกำปั้นเรียนแผนกช่างยนต์ในโรงเรียนอาชีวะ (ที่มีชื่อเสียงทางด้านกีฬาชกมวย) รถมอเตอร์ไซค์ของ รำไทย (พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) เด็กสาวหน้าตาน่ารักแต่ก๋ากั๋นจากโรงเรียนนาฏศิลป์จะมาติดเครื่องรอรับกำปั้นเพื่อหนีการซ้อมในชมรมมวย พาไปฝึกซ้อมนาฏกรรมโขนที่บ้านศิลป์ไทยเป็นประจำ
รำไทย เป็นลูกสาวคนเดียวของ ศิลป์ไทย หรือ ครูศิลป์ (เกรียงไกร อุณหะนันทน์) อดีตครูโขนในกรมศิลป์ เคยเป็นผู้ดีเก่าเจ้าระเบียบ แต่ทุกวันนี้สมบัติที่เหลือติดตัวมีอยู่แค่ 2 อย่าง คือบ้านเรือนไทยริมน้ำหลังสวยที่นายหน้าหลายคนจ้องตาเป็นมัน และวิชาศิลปะการรำโขนที่ครูศิลป์ตั้งใจถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ จึงเปิดบ้านรับสอนโขนให้กับเด็กๆ ในละแวกนั้น เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ครูศิลป์ไม่เคยคิดถึงเงินทอง ไม่เคยเรียกเก็บเงินค่าสอน แม้ทุกบาสทุกสตางค์ที่หาได้จากการรับงานรำโขนโชว์ตามงานต่างๆ ที่ยังมีผู้ว่าจ้าง จะหมดไปกับค่ารักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งของ ดวงใจ (ดวงดาว จารุจินดา) แม่ของรำไทยที่ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ แต่ครูศิลป์ก็ไม่เคยย่อท้อต่อความลำบาก คำนึงที่ครูศิลป์มักจะพูดให้รำไทยและกำปั้นฟังเสมอๆ ก็คือ “ถึงจะหมดเนื้อหมดตัวบ้านจะถูกยึด แต่ขอให้โขนยังอยู่ต่อไป” กำปั้นเชื่อและรักในศิลปะการรำโขนมากพอๆ กับที่รักรำไทย เด็กหนุ่มสาวสองคนจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อสานต่อปณิธานของครูศิลป์ ยามว่างจากการซ้อมโขน เด็กทั้งคู่มักไปหารายได้พิเศษในย่านตรอกข้าวสารโดยมี ชกลม (ธีรภัทร์ แย้มศรี) เพื่อนสนิทของกำปั้น และ พอใจ (ศรศิลป์ มณีวรรณ์) เพื่อนสนิทของรำไทยไปช่วยตั้งแผงขายของด้วย รำไทยเอาหัวโขนจำลองไปขายเป็นของที่ระลึกบ้าง สีซอสามสายแลกเศษสตางค์บ้าง บางครั้งก็ไปรำตามโรงแรม ห้องอาหาร และรับจ้างซ่อมชุด ปักชุดนาฏศิลป์ไทยกับพอใจ ส่วนกำปั้นก็เอากางเกงมวยไปขายให้พวกฝรั่งที่ชื่นชอบศิลปะมวยไทย เมื่อมีฝรั่งสนใจก็มักจะโชว์ท่าทางแม่ไม้มวยไทยให้ฝรั่งดูโดยให้ชกลมเป็นคู่ชก แต่สิ่งที่กำปั้นทำได้ดีที่สุดก็คือการรำไหว้ครูของมวยไทย เพราะกำปั้นได้ฝึกพื้นฐานการรำโขนมาจากครูศิลป์ ท่วงท่าการไหว้ครูของกำปั้นจึงอ่อนช้อยงดงาม หลายครั้งที่พวกจิ๊กโก๋แถวบ้านรำไทยเจอกำปั้นเดินอยู่กับรำไทย พวกนั้นมักจะแซวกำปั้นว่าเป็นลูกนักมวยประสาอะไรไปหัดรำโขน หาว่ากำปั้นเป็นกะเทยและชอบหาเรื่องกำปั้นกับรำไทยเสมอๆ เมื่อเหลืออดกำปั้นจึงงัดเชิงมวยที่ได้เรียนมาจากพ่อเล่นงานพวกนักเลงจนกระเจิง
แต่ความลับของกำปั้นก็ปิดไม่มิดเมื่อคำรณขอให้เฮียอ๋าพากำปั้นขึ้นชกบนเวทีเป็นคู่เปิดให้กับการชกแข่งของสังเวียน กำปั้นดูไม่มีสมาธิที่จะขึ้นชกเท่าไหร่ เมื่อขึ้นไปเจอคู่ต่อสู้กำปั้นก็เอาแต่ชกสไตล์ป้องกันตัวเองอย่างเดียว โดยเฉพาะกับสองมือที่กำปั้นจะห่วงมากเป็นพิเศษ คำรณพยายามบอกให้ลูกชายชกให้เต็มที่ แต่กำปั้นก็ทำให้พ่อผิดหวังด้วยความพ่ายแพ้ ในขณะที่สังเวียนสามารถเอาชนะคู่ชกได้สมศักดิ์ศรี คำรณเริ่มสงสัยพฤติกรรมของลูกชาย คำพูดของหลายๆ คนที่เคยพูดเอาไว้ให้ได้ยินว่าบนเวทีกำปั้นรำไหว้ครูได้ดีกว่าชกจริง จนน่าจะเป็นนางรำมากกว่านักมวย (หรือไอ้กะเทย) คำรณจึงตามดูพฤติกรรมของลูกชายจนในที่สุดก็เจอความจริงเมื่อตามไปเห็นกำปั้นหนีซ้อมมวยมารำโขนที่บ้านครูศิลป์ คำรณโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่กำปั้นไม่ฟังตามคำสั่ง ลงไม้ลงมือตีลูกชายไม่ยั้งต่อหน้าครูศิลป์ และเหล่าบรรดาแม่ยกของครูศิลป์ ป้าสายใจ (ส้มเช้ง 3 ซ่า) สายสมร (ดีใจ ดีดีดี) และ สายพิณ (จิ้ม ชวนชื่น) ที่เอ็นดูรักใคร่กำปั้น ทุกคนพยายามห้ามและขอร้องไม่ให้คำรณตีลูก เหล่าแม่ยกด่าคำรณซะเสียผู้เสียคนทำให้คำรณโกรธกลับไป กำปั้นเสียใจที่ทำให้พ่อโกรธ จึงตัดสินใจขอลาครูศิลป์และรำไทยทิ้งความฝันการรำโขนเพื่อกลับไปทำให้พ่อได้ภาคภูมิใจ แม้ว่าครูศิลป์จะเสียดายอนาคตในการรำโขนของกำปั้น เพราะฝีมือที่กำปั้นเฝ้าฝึกมาตลอดเวลาหลายปี จะทำให้กำปั้นเป็นความหวังของครูศิลป์ แต่หน้าที่ของลูกที่ต้องกตัญญูต่อพ่อก็ทำให้ครูศิลป์เข้าใจ ยอมปล่อยให้กำปั้นทิ้งโขนแล้วเดินหน้าสู่สังเวียนของมวยไทย แต่กับรำไทยเธอน้อยใจร้องไห้ใส่กำปั้นเพราะคิดว่ากำปั้นน่าจะทำทั้งสองอย่างได้ดีทั้งคู่ เพราะมวยไทยกับรำโขนมันก็เป็นศิลปะเหมือนกัน แต่กำปั้นยังไม่เข้าใจ ตอนนี้เขาต้องเลือกทำหน้าที่ของลูกก่อน
กำปั้นแอบเห็นพ่อกินเหล้าแล้วร้องไห้ต่อหน้ารูปของแม่ พ่อเสียใจที่ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ได้ กำปั้นรู้เรื่องวันที่เขาเกิดเป็นวันเดียวกับพี่แม่ตายมาจากพี่ชาย กำปั้นสงสารพ่อและรู้สึกผิด จึงถือพานไปกราบขอขมาพ่อที่เวทีมวยขอให้ยกโทษให้และสัญญากับพ่อว่าจะเลิกรำโขนอย่างเด็ดขาด ต่อไปนี้เขาจะเป็นนักมวยเพื่อทดแทนพระคุณพ่อ เมื่อกำปั้นสัญญาแบบนั้นคำรณก็ยกโทษให้ลูกและจับกำปั้นให้มุมานะซ้อมมวยเพื่อเจริญรอยตามสังเวียนซึ่งกำลังเป็นนักมวยมีชื่อเสียง กำปั้นพยายามซ้อมตามที่พ่อสั่งทุกอย่างแม้จะต้องเจ็บตัวเขาก็อดทน แต่ใจของกำปั้นก็ยังโหยหาการรำโขนอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่เขาเดินผ่านบ้านครูศิลป์ กำปั้นมักจะไปแอบดูรำไทยซ้อมรำและสีซอ แต่เขาก็ไม่กล้าไปสู้หน้าครูศิลป์กับรำไทย เพราะรู้ดีว่าทำให้ครูศิลป์ผิดหวัง จนวันนึงกำปั้นไปเจอพวกทวงหนี้มาทวงเงินแต่ไม่ได้เงินเลยเอาเครื่องดนตรีไทยในบ้านไปขายแลกเป็นเงิน เพราะครูศิลป์เอาโฉนดบ้านไปจำนองไว้กับพวกนั้นเพื่อเอาเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายรักษาน้าดวงใจที่อาการกำลังทรุดหนัก กำปั้นตามไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลและได้เจอครูศิลป์อยู่กับน้าดวงใจ ครูศิลป์ไม่ให้กำปั้นพูดเรื่องที่ตนเอาบ้านทรงไทยไปจำนองจนเป็นหนี้ ดวงใจดีใจที่ได้เห็นกำปั้นและบอกว่าเมื่อไหร่ที่หายออกจากโรงพยาบาลจะตามไปดูกำปั้นรำโขนในวันพ่อเฉลิมพระเกียรติ แต่ครูศิลป์ต้องบอกให้ดวงใจรู้ว่ากำปั้นเลิกรำโขนแล้ว ดวงใจเสียดายแต่ก็ชื่นชมกำปั้นที่เลือกการทดแทนพระคุณพ่อ รำไทยมาเห็นกำปั้นอยู่กับแม่ก็ไม่พอใจ รำไทยตามไปต่อว่ากำปั้นหลังจากออกจากโรงพยาบาล รำไทยไม่อยากให้กำปั้นมายุ่งกับครอบครัวเธออีก เพราะตอนนี้ครอบครัวเธอไม่เหลือสมบัติอะไรอีกแล้ว นอกจากศิลปะการรำโขนที่พ่อเลือกที่จะรักษาเอาไว้ พ่อทำตามคำพูดที่เคยพูดอยู่เสมอว่า “ถึงจะหมดเนื้อหมดตัว บ้านถูกยึดแต่ก็ขอให้โขนยังอยู่ต่อไป” เพราะฉะนั้นในเมื่อกำปั้นเลือกทิ้งหัวโขนแล้ว กำปั้นก็ไม่ควรมาให้เธอเห็นหน้าอีก
กำปั้นรู้สึกเสียใจเก็บเอาคำพูดของรำไทยมาครุ่นคิดโดยไม่ได้เล่าให้พ่อฟัง เพราะพ่อกำลังจะพาเขาไปชกมวย จึงเคี่ยวเข็ญให้เขาขยันซ้อม จนถึงเวลาขึ้นชกกำปั้นยังคงรำไหว้ครูอย่างสวยงาม ลีลาอ่อนช้อยผสมท่ารำโขน เช่นท่า พระรามแผลงศร กำปั้นพยายามชกตามที่พ่อบอกทุกอย่าง แต่คู่ชกของกำปั้นแข็งแกร่งมากกว่าที่คำรณคาดการณ์เอาไว้ กำปั้นอยากทำให้พ่อภูมิใจจึงไม่กลัวเจ็บ พยายามชกอย่างที่สุดแต่ก็โดนพายุหมัดรัวใส่ คำรณสงสารลูกบอกกำปั้นว่าจะขอยอมแพ้ แต่กำปั้นห้ามพ่อแล้วบอกให้พ่อรู้ว่า “ ถ้าทำให้พ่อภูมิใจไม่ได้ เขาก็ไม่รู้จะเกิดมาเป็นลูกของพ่อทำไม” กำปั้นยังคงเดินหน้าเข้าชกกับคู่ต่อสู้ แต่ก็โดนหมัดศอกถาโถมเข้าใส่เต็มแรงจนอ่วม ถึงอย่างไรกำปั้นก็ไม่ถอย ยังคงงัดลีลาแม่ไม้มวยไทยที่พ่อสอนมาสู้อย่างสุดกำลัง จนในที่สุดก็สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้
แต่แม้กำปั้นจะชกชนะแต่ก็ถูกล้อเลียน คำรณเลยไม่ได้ภูมิใจในชัยชนะที่ลูกมอบให้กลับต่อว่ากำปั้นที่ไปรำมวยจนดูเป็นนางรำมากกว่านักมวย เป็นตัวตลกให้เขาอับอายขายหน้า กำปั้นเสียใจที่พ่อไม่ภาคภูมิใจในเมื่อเขาทำทุกอย่างเพื่อพ่อแล้ว กำปั้นเผลอขึ้นเสียงกับพ่อด้วยอารมณ์ว่าเขาไม่ใช่คนที่สัญญากับแม่ทำได้แค่นี้พ่อก็น่าจะดีใจกับเขาบ้าง คำรณโกรธที่กำปั้นเอาเรื่องนี้มาพูดเลยตบหน้าลูกชายไปอย่างแรง กำปั้นเจ็บปวดตัดสินใจถอดนวมโยนทิ้งแล้วเลิกเป็นนักมวยและเป็นลูกอย่างที่พ่อต้องการ
กำปั้นออกจากบ้านไปอยู่กับชกลม กำปั้นไปแอบดูครูศิลป์กับรำไทยซ้อมโขนที่บ้านเช่าที่บรรดาแม่ยกช่วยกันหาที่ให้ใหม่ รำไทยจะไล่กำปั้นแต่ครูศิลป์ห้ามและอนุญาติให้กำปั้นมาอยู่ด้วยกัน กำปั้นบอกครูศิลป์ว่าเขากลับมาเพื่อทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับน้าดวงใจเขาจะขึ้นรำโขนในวันพ่อเฉลิมพระเกียรติ ครูศิลป์เห็นความตั้งใจของกำปั้นก็ยอมที่จะให้กำปั้นกลับมารำโขนอีกครั้ง รำไทยแอบดีใจที่กำปั้นกลับมาแต่ก็ยังแกล้งทำเป็นงอน วางฟอร์มไม่ให้เสียหน้ากำปั้น
คำรณยังไม่หายโกรธกำปั้น แต่ก็ยังมีทิฐิไม่ยอมไปตามกำปั้นกลับมาถึงกับบอกใครต่อใครว่ากำปั้นไม่ใช่ลูกนักมวยแต่มันเป็นลูกโขน คำรณจึงหันไปสนใจสังเวียนที่กำลังจะก้าวขึ้นชิงแชมป์เข็มขัดเดียวกับที่คำรณเคยพลาดหวังมาเมื่อในอดีต คำรณมั่นใจว่าสังเวียนจะกู้หน้าให้กับตัวเองได้ แต่เมื่อตามไปเชียร์ลูกชายกลับพบว่าสังเวียนพ่ายแพ้อย่างค้านสายตาคนดู คำรณไปคาดคั้นกับสังเวียนเพราะไม่เชื่อว่าสังเวียนจะแพ้ ในที่สุดสังเวียนก็ยอมพูดความจริงกับพ่อว่าที่แพ้เพราะหลิวมาขอร้องให้เขารับเงินจากเฮียอ๋าเพื่อล้มมวย แม้เขาจะไม่อยากทำแต่เขาก็ต้องยอมเพราะสงสารพ่อที่เป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ แถมรถ TAXI คันเก่งของพ่อก็เสียต้องเข้าอู่ซ่อมและก็ไม่มีเงินไปจ่ายค่าซ่อมเอารถออกมา ทำให้พ่อไม่มีรายได้เลย คำรณจุกอกไม่อยากเชื่อว่าลูกชายจะยอมขายศักดิ์ศรีที่เขาเฝ้าอุตส่าห์สั่งสอนให้ลูกมาตลอด คำรณสั่งให้สังเวียนเอาเงินไปคืนเฮียอ๋า สังเวียนไม่ยอมคำรณจึงแย่งเอาเงินจากสังเวียนไปหาเฮียอ๋าเอง คำรณเอาเงินไปปาใส่หน้าเฮียอ๋าแล้วสั่งให้เลิกยุ่งกับสังเวียน พวกเฮียอ๋าไม่พอใจดูถูกคำรณเป็นแค่ไอ้เป๋ที่มีลูกเป็นกะเทยนางรำแต่อยากปั้นให้เป็นนักมวยตุ๊ด คำรณเลือดขึ้นหน้ามีเรื่องกับพวกมัน กำปั้นแวะมาหาพ่อพอดีกับที่สังเวียนกำลังตามไปช่วยพ่อ สองพี่น้องไปเจอพ่อกำลังโดนพวกเฮียอ๋าทำร้ายเลยเข้าไปช่วย เฮียอ๋าชักปืนจะยิงกำปั้น คำรณรีบเอาตัวเข้าไปกันกระสุนให้ รำไทยพาตำรวจมาถึงพอดี พวกเฮียอ๋าถูกจับได้ทั้งหมด แต่อาการของคำรณไม่ค่อยดีถูกส่งเข้าโรงพยาบาล
คำรณรอดมาได้อย่างหวุดหวิดเพราะกำปั้นพาพ่อมาถึงโรงพยาบาลทันเวลา สังเวียนเข้ามากราบขอโทษพ่อที่ทำให้พ่อผิดหวังและสัญญาว่าต่อไปจะไม่ยอมขายศักดิ์ศรีตัวเองอีก กำปั้นแอบดูพ่อกับพี่ชายแล้วไม่อยากเข้าไปเพราะรู้ว่าตัวเองเป็นลูกที่ไม่เคยทำให้พ่อภูมิใจยอมเดินจากไปตามลำพัง แต่ขณะที่กำปั้นกำลังจะหันหลังกลับ พ่อก็หันมาเห็นกำปั้นพอดี จึงตะโกนด่ากำปั้นว่า “ เป็นลูกโขนแล้วกลับมาอีกทำไม ที่นี่มันมีแต่ลูกนักมวย” กำปั้นเสียใจน้ำตานองหน้าบอกพ่อไปว่า “ ถ้าเลือกได้ เขาอยากเป็นแค่ลูกที่ทำให้พ่อภูมิใจ”
กำปั้นมาหารำไทยกับครูศิลป์แต่พบว่าอาการของน้าดวงใจกำลังแย่ ทุกคนที่บ้านโขนไปดูใจน้าดวงใจกันพร้อมหน้า ดวงใจบอกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ดูรำไทยกับกำปั้นรำโขนในวันพ่อเฉลิมพระเกียรติ แต่ก็ดีใจที่สุดท้ายแล้วกำปั้นก็กลับมาช่วยครูศิลป์สืบสานศิลปะโขนต่อไป ดวงใจรู้เรื่องที่ครูศิลป์เอาบ้านไปจำนองจากการได้ยินรำไทยคุยกับ 3 แม่ยก ที่ช่วยรวบรวมเงินมาช่วยยืดเวลาชำระไปได้อีก 1 เดือนก่อนที่จะถึงเดือนธันวาคม ซึ่งขณะโขนของครูศิลป์จะได้รำในงานวันพ่อเฉิลมพระเกียรติ จากงานวันนั้นครูศิลป์จะได้เงินมาจำนวนหนึ่งมาจ่ายหนี้ค่าบ้าน ทำให้สามารถรักษาบ้านทรงไทยเอาไว้ได้อีก ไม่จำเป็นต้องเอาเงินมารักษาเธอ เพราะชีวิตของเธอไม่คุ้มกับการต้องสูญเสียศิลปะโขนสมบัติอันล้ำค่าของทุกคน รำไทยและกำปั้นตัดสินใจพาดวงใจออกมาที่สนามของโรงพยาบาล แล้วแสดงโขนให้ดวงใจดูเพื่อให้ดวงใจได้จากไปอย่างสงบ
ในที่สุดการแสดงโขนในวันพ่อเฉลิมพระเกียรติก็มาถึง ก่อนการแสดงจะเริ่มกำปั้นแวะไปหาพ่อที่บ้านเพื่อขอให้พ่อไปดูการแสดงของเขา แต่กำปั้นไปไม่เจอบ้านปิดเงียบเชียบไม่มีใครอยู่ กำปั้นคิดว่าพ่อคงไม่สนใจที่จะไปดูเขานั่นทำให้กำปั้นรู้สึกเสียใจที่เขาเป็นได้แค่ลูกที่ทำให้พ่อภูมิใจไม่ได้
กำปั้นกลับมาที่เวทีการแสดงที่ทุกคนกำลังเตรียมพร้อม แต่ก่อนที่การแสดงจะเริ่มขึ้นไม่กี่นาทีคำรณกับสังเวียนก็เดินทางมาหากำปั้น คำรณขออนุญาติครูศิลป์เป็นผู้สวมชฎา (พระราม) ให้กำปั้นก่อนขึ้นแสดง ด้วยความตื้นตันใจกำปั้นก้มกราบเท้าพ่อสารภาพความในใจว่าตลอดมาเขาอยากทำให้พ่อภาคภูมิใจเพราะคิดมาตลอดว่าถ้าแม่ไม่เลือกให้เขามีชีวิตอยู่ พ่อก็คงจะได้มีความสุขอยู่กับแม่ คำรณจุกอกกับความคิดซื่อๆ ของลูกชาย น้ำตาไหลพร่างพรู บอกกำปั้นทำให้พ่อได้รู้ว่า “มวยไทยมีหน้าที่รักษาชาติรักษาแผ่นดิน โขนก็ช่วยเป็นหน้าเป็นตาของวัฒนธรรมไทย ยามเมื่อสงบเราก็อ่อนช้อย ยามเมื่อถูกรุกรานเราก็มีมวยไทยไว้คอยปกป้อง” สิ่งที่กำปั้นทำอยู่เป็นความภูมิใจของพ่อที่สุดแล้ว คำรณสวมชฎาให้กำปั้นแล้วไปนั่งดูการแสดงโขนที่ดีที่สุดในชีวิตที่ลูกชายของเขาได้แสดงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ รอยยิ้มของทุกคนเต็มไปด้วยความปลื้มปิติยินดี
นักแสดง
1 ศรัณย์ ศิริลักษณ์ รับบท กำปั้น
2 พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ รับบท รำไทย
3 ธีรภัทร์ แย้มศรี รับบท ชกลม
4 ศรศิลป์ มณีวรรณ์ รับบท พอใจ
5 พิชยดนย์ พึ่งพันธ์ รับบท สังเวียน
6 กัญญา รัตนเพชร์ รับบท หลิว
7 ศตวรรษ ดุลยวิจิตร รับบท เฮียอ๋า
8 ฐรินดา กรรณสูต รับบท สายทอง
9 วินัย ไกลบุตร รับบท คำรณ
10 ดวงดาว จารุจินดา รับบท ดวงใจ
11 เกรียงไกร อุณหะนันท์ รับบท ศิลป์ไทย
12 ประสาท ทองอร่าม รับบท ครูมืด
13 ส้มเช้ง สามช่า รับบท สายใจ
14 ดีใจ ดีดีดี รับบท สายสมร
15 จิ้ม ชวนชื่น รับบท สายพิณ