iTAP หนุน ออกแบบที่พักกึ่งสำเร็จรูปฯ สร้างมาตรฐาน สู่อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

ข่าวทั่วไป Thursday November 25, 2010 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดอบรม “นวัตกรรมเพื่อการออกแบบที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบถึงนวัตกรรมด้านที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป (Prefabrication) ได้อย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการของตลาด อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ นายวิบูล จันทรดิลกรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจสร้างบ้าน กล่าวว่า อดีตการสร้างบ้านนิยมใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากสมัยก่อนป่าไม้และทรัพยากรของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งราคาถูกกว่าการก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรประเภทอิฐและคอนกรีต แต่เมื่อวัสดุไม้มีราคาแพงขึ้น อีกทั้งช่างฝีมือที่มีความชำนาญหาได้ยาก “ธุรกิจรับสร้างบ้าน”จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ฯลฯ ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีประมาณ 12,000 ล้านบาทจากมูลค่าตลาดรวมของบ้านสร้างเองทั่วประเทศที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือประมาณ 25% เป้าหมายของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจึงต้องการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในเชิงข้อมูลวิชาการสำหรับตลาดรับสร้างบ้าน สมาคมธุรกิจสร้างบ้านจึงมีความยินดีและขอบคุณ iTAP ในการร่วมงานครั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปได้เข้าใจและรับทราบถึงนวัตกรรมที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเกิดเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาและร่วมมือกันยกระดับเทคโนโลยี นางสาวกัลยา โกวิทสิทธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP โครงการ “นวัตกรรมการพัฒนาที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป” กล่าวด้วยว่า ก่อนเปิดตัวโครงนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปหรือ Prefabrication เป็นจำนวนมาก เมื่อสามารถฟอร์มทีมทำงานขึ้นมาได้จึงอยากให้มีการพัฒนาทั้งมาตรฐานและเทคโนโลยี ฯลฯ “Prefabrication หรือที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปหากจะให้คำจำกัดความสั้นๆ คือ การสร้าง ออกแบบแยกชิ้นส่วนของอุปกรณ์สร้างบ้านต่างๆและนำมาประกอบกันในโรงงาน จากนั้นจึงยกมาตั้งไว้ที่ไซต์งานก่อสร้างและประกอบขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เช่น มีการเจาะรูไว้และนำเอาแผ่นผนังมาประกบกันแล้วเข้าน็อต ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการประกอบแบบแห้ง(Assembly)หากต้องทำรังวัดใหม่หรือนำกาวมาทาจะทำให้เกิดความผิดพลาดมากและเป็นระบบเก่าที่ใช้กันอยู่” สำหรับจุดเด่นของที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปที่คาดหวัง คือ อยากให้การก่อสร้างได้มาตรฐาน ในต้นทุนที่สมเหตุสมผล อาจไม่ต้องมีนวัตกรรมล้ำหน้าเหมือนต่างประเทศ การเปิดตัวโครงการในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรับทราบถึงนวัตกรรมที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป ตอบสนองความต้องการของตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของงานก่อสร้าง สำหรับอคติของการมองว่าที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปจะไม่แข็งแรง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯมองว่า “ทุกคนจะคิดว่ามันถูก เปราะบาง พังง่าย ฉาบฉวย ชั่วคราว ดังนั้นอาจไม่เชื่อมั่นหรือไม่มีใครยอมรับว่าทำ Prefab ซึ่งจริงๆแล้วบ้านเรามีการทำระบบนี้มานานเพียงแต่ว่าไม่ครบชิ้นส่วน อาจแยกเป็นทำพื้น ทำผนัง และมีบริษัทที่ทำแบบครบวงจรจริงๆในประเทศ ประมาณ 30% ทั้งๆที่ในอดีตสถาปัตยกรรมไทยก็มีการตอกไม้ ยกพื้น การต่อคานตรง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการสร้างบ้านกึ่งสำเร็จรูปเช่นกัน” ด้านตลาดในประเทศขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากทั่วโลกยอมรับการออกแบบบ้านกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ดังนั้นการต่อต้านจึงเริ่มน้อยลงด้วยการมีความรู้และข้อมูล อีกทั้งบริษัทรับก่อสร้างบ้านในประเทศก็มีการสร้างที่พักกึ่งสำเร็จรูปจนได้รับการยอมรับ “เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้สามารถทำได้ง่ายขึ้นและถูกลง อีกทั้งบ้านเรามีบริษัทรับสร้างบ้านที่นำ Prefab มาทำ 100 % จนได้รับการยอมรับ ทำให้ทุกคนเชื่อมั่นและทิ้งความคิดว่า Prefab ต้องเป็นอาคารชั่วคราว อ่อนแอ เพราะขณะนี้สามารถทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ บ้าน ทาวเฮ้าส์ หรือที่พักอาศัยทุกรูปแบบ” ผู้เชี่ยวชาญ iTAP โครงการนวัตกรรมการพัฒนาที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป กล่าวอีกว่า “ขณะนี้เทคโนโลยีด้าน Prefab ถือว่าต่างประเทศเป็นผู้นำกันคนละด้าน เช่น อเมริกาจะเป็นผู้นำด้านการผลิต หรือ ญี่ปุ่นจะทำงานในการวางระบบดีมากอย่างการวางท่อ การซ่อมแซมให้มีอายุใช้งานได้นานขึ้น ด้านความคาดหวังในบ้านเราคือถ้าเป็นไปได้อยากเห็นสถาปัตยกรรมไทยๆถูกนำมาใช้ เช่น การตอกไม้ ซึ่งเราทำได้สวยและสู้ต่างประเทศได้” สำหรับการเปิดโครงการ “นวัตกรรมที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป” ครั้งแรกนี้ยังเปิดรับบริษัทเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 บริษัทเพื่อพัฒนาเป็นบริษัทต้นแบบในเฟสที่ 1 “ รับสมัครเพียง 3 บริษัทเนื่องจากขอบเขตกว้างมากและอยากทำงานให้เต็มที่รวมทั้งไม่อยากกะเกณฑ์งานว่าต้องเป็น Prefab 100% อาจทำแค่พื้นหรือผนังสำเร็จรูป นอกเหนือจากบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วหากสามารถช่วยให้คำปรึกษากับบริษัทอื่นได้อีกก็เต็มใจ” ผู้เชี่ยวชาญ iTAP กล่าว ด้าน นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญ iTAP และผู้บริหารบริษัท ปรีเฟบ จำกัด กล่าวด้วยว่า “ที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปหรือ Prefab คือ ลักษณะการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สำเร็จจากโรงงานมากกว่าการสร้างในไซต์และต้องใช้เวลาอยู่ในโรงงานมากกว่าอยู่หน้าไซต์โดยทั่วไปจะเห็น Prefab อยู่ในโรงงาน 80% และอยู่ในไซต์งาน 20% สำหรับจุดเด่นของ Prefab คือ สร้างได้เร็วและมีคุณภาพสูง เช่น สามารถทำฐานรากในไซต์งาน ขณะที่ตัวอาคารชั้น 1 2 3 สามารถผลิตในโรงงานไปพร้อมกัน นอกจากจะมีคุณภาพดีแล้วเราไม่ต้องพึ่งแรงงานที่อยู่ในไซต์ และไม่ต้องพึ่งช่างท้องถิ่น รวมทั้งสามารถผลิตทุกอย่างได้ตามความสามารถอย่างช่างที่ถนัดติดผนังก็ทำเฉพาะผนัง ช่างที่ทำงานโครงเหล็กก็ทำเพียงโครงเหล็กให้เกิดความชำนาญเพียงอย่างเดียวและค่อยนำมาประกอบกัน” ผู้บริหารบริษัท ปรีเฟบฯ กล่าวอีกว่า บ้านกึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลดค่าขนส่งวัสดุในการก่อสร้างที่ต้องขนกันหลายเที่ยว อีกทั้งมองว่าถ้าออกแบบให้ดีและได้มาตรฐานจะมีขยะเหลือทิ้งน้อยมาก ซึ่งสามารถตอบรับกระแสลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นและเชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับการก่อสร้างบ้านทั่วไปได้ “ผมอยากทำ Prefab ที่อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก อยากทำแบบธรรมดาแต่มีคุณภาพ สำหรับความแข็งแรงทนทานก็เท่ากับบ้านทั่วไป แต่บ้าน Prefab มีสิ่งที่ดีกว่า เช่น ระบบผนังเบาหลายชั้นทำให้บ้านเย็นขึ้นถ้าออกแบบดีมีหน้าต่างรับลม สิ่งที่ดีขึ้นคืออาจไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ และช่วยให้ประหยัดพลังงาน การร่วมงานกับ iTAP จึงหวังว่าจะช่วยทำให้ Prefab กลายเป็นบ้านที่เหมาะกับการอยู่อาศัยในราคาประหยัด ที่สำคัญ คือ มีคุณภาพ” สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP สามารถติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1300 ,1301

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ