กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ปตท.
ผ่านการเรียนรู้ และสนับสนุน ให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติจริงทุกภาคทั่วประเทศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ปตท. ภายใต้การดำเนินโครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง ได้ประสานความร่วมมือกับพี่น้องภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการ “มหัศจรรย์ความพอเพียง” ขึ้น ภายใต้สัปดาห์ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนจาก 87 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งจากท้องถิ่นอื่น เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของชุมชนมาสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางพึ่งตนเอง และการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนหรือ “รักษ์ป่าฯ โมเดล” ที่มีหัวใจหลักที่มาจากความต้องการจากชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นทางเลือกและทางออกให้สังคมไทย ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฯ ในระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนอาสาที่เข้าร่วมโครงการฯ จากทั่วประเทศกว่า 9,000 คน สามารถลดรายจ่ายภายใต้กิจกรรมที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมกันได้ถึง 170 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 34,000 บาทต่อครัวเรือน หรือร้อยละ 14 ต่อปี อีกทั้งครัวเรือนอาสาเหล่านี้ยังมีบทบาทเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนตำบลร่วมกันอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ จากการดำเนินโครงการฯ ยังทำให้เกิดองค์ความรู้จากครัวเรือน หรือคนต้นแบบ ที่จะเป็นประโยชน์ในการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไปอีกกว่า 600 คน
นางสมหญิง มานะจิตต์ ผู้อำนวยการโครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียงกล่าวว่า “รักษ์ป่าฯ โมเดล” เป็นประสบการณ์ความรู้ การทำงานพัฒนาชุมชนสู่การพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วยความรู้การทำงาน 2 ระดับ คือ ระดับโครงการฯ และระดับตำบล ที่ต้องมีการประสานและเชื่อมโยงกัน จนเกิดเป็นผลลัพธ์ของครัวเรือนพอเพียง และตำบลวิถีพอเพียง อันจะเป็นแม่แบบการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนให้แก่กลุ่ม ปตท. และหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ดี จากระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ที่ยังเหลืออยู่อีก 1 ปี ก่อนที่ ปตท. จะถวายตำบลวิถีพอเพียงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเองของ ปตท. และภาคีเครือข่ายอย่างแท้จริง
อนึ่ง ปตท. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันดำเนินโครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง เพื่อถวายเป็นปฏิบัติบูชาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในปี 2554 โดยได้เปิดตัวและดำเนินงานมาตั้งแต่ปลายปี 2550