ธนาคารทหารไทย คาด..มีโอกาสสูงที่กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 อีกครั้งในวันที่ 23 พฤษภาคม

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2007 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ธ.ทหารไทย
ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย คาด..มีโอกาสสูงที่กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 อีกครั้งในวันที่ 23 พฤษภาคม
ในช่วงใกล้วันประชุมกนง. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ความเห็นส่วนใหญ่ของตลาด เมื่อพิจารณาจากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ yield curve ทุกระยะอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.0 ทั้งสิ้น ในช่วง 35-55 bps.และอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน เริ่มทยอยปรับลดลงต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนระยะ 1 วัน สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดได้อย่างค่อนข้างชัดเจนต่อการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาร่วมด้วยกับปัจจัยพื้นฐาน ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในอัตราเร่งอีกร้อยละ 0.50 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น โดยธปท.ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 50 ลงจากร้อยละ 4.0-5.0 เป็นร้อยละ 3.8-4.8 หลังภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปี 50 สะทัอนภาวะอุปสงค์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวถึงร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัว ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ชัดเจน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้าลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 77.6 สะท้อนปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเพราะจากสถิติที่ผ่านมาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป
- อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ลดความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย. 50 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินนั้นขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และ 1.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาจำหน่ายน้ำมันในประเทศในเดือนนี้ จะปรับสูงขึ้น แต่จากการปรับลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนที่ผ่านมาและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.มีแนวโน้มทรงตัว
- ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในภูมิภาคจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประกอบกับในไตรมาสแรกการส่งออกของไทยในรูปเงินดอลลาร์ขยายตัวถึงร้อยละ 18.5 ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกเกินดุลอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่าอยู่แล้ว และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกและศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเดือนพ.ค. ทำสถิติปิดแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ 34.43 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางแข็งค่าได้ส่วนหนึ่ง
จากปัจจัยข้างต้น คาดว่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ กนง. ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 4.0 เหลือร้อยละ 3.5 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลงมากและส่งผลดีต่อค่าของเงินบาท รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ และ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอดูผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง รวมทั้งผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวนและมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ ( IMF คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 50 อยู่ที่ 60.75 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ครั้งก่อน และปี 51 ขยับขึ้นไปที่ 64.75 ดอลลาร์สรอ./บาร์เรล)
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะตอบรับการส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.อีก หลังจากที่ได้มีการปรับลดลงไปแล้วในอัตราร้อยละ 0.25-1.25 จากต้นปี ด้วยการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ตามความเหมาะสมและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน
ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 472 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 104 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 1,750 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์ 748,676,678,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549) นับเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นอันดับห้าในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย
www.tmbbank.com
ธนาคารทหารไทย: ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต
TMB Bank: Better Partner, Better Value
รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02 242-3255
สำนักสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ