กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ก.ไอซีที
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการอบรมแนวทางการ จู่โจมและรับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ว่า ปัจจุบันการใช้งานอินเmอร์เน็ตมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี โดยจากสถิติภาพรวมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ระบุว่าเมื่อปี 2007 มีจำนวนผู้ใช้งาน 13,416,000 คน ในปี 2008 มีจำนวน 16,100,000 คน ซึ่งคาดว่าในปี 2010 จะมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยถึง 20 ล้านคน และเมื่อมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นย่อมทำให้มีผู้ที่คิดกระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่จะต้องมีการสร้างเสริมความรู้ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของชาติ ด้านการข่าวกรอง ด้านการสืบสวน และด้านการป้องปรามการกระทำความผิดอันเกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีความรู้เท่าทันภัยคุกคาม รูปแบบการกระทำความผิดในชนิดต่างๆ ได้แก่ การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อปลุกระดมแนวความคิดที่อาจเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของประเทศ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายและกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้
“กระทรวงฯ จึงได้วางแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับภัยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคนิคในการสืบสวนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้ทันกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อให้รู้เท่าทันถึงภัยคุกคามและรูปแบบการกระทำความผิดจากการใช้ข้อมูล (Information Technology) ตลอดจนสร้างความเข้าใจถึงสาระสำคัญจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมถึงเรียนรู้เพื่อหาแนวทางการจู่โจมและวิธีรับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว
โดยกระทรวงฯ ได้จัดการฝึกอบรมในหลักสูตร “แนวทางการจู่โจมและรับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์” ขึ้น เพื่อฝึกอบรมให้กับผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 31 หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและรูปแบบการกระทำความผิดจากการใช้ข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีหลักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในงานด้านการสืบสวน และการป้องปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติไทย ตลอดจนรู้จักการสร้างและใช้เครื่องมือในการสืบให้เกิดผลสำเร็จในงานด้านการข่าว ด้านการสืบสวน การป้องปรามจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้รับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และรู้เท่าทันกรรมวิธีในการจู่โจมทางคอมพิวเตอร์
สำหรับหลักสูตรการอบรมฯ ครั้งนี้มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยจะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับสถิติภัยคุกคามจากการใช้ข้อมูลสารสนเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดห่วงโซ่เหตุการณ์จากการใช้ข้อมูลสารสนเทศ (Information Chain of Event) รวมทั้งหลักและแนวคิดในการสืบสวนหาผู้กระทำความผิด เรียนรู้ลักษณะการไหลเวียนข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เรียนรู้ชนิดของ Log ประเภทต่างๆ ที่ปรากฏในการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ความแตกต่างของ Log แต่ละชนิด และการนำไปใช้ประโยชน์ในการสืบสวน เรียนรู้ถึงหัวใจของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงแนวทางการจู่โจมและวิธีรับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เช่น ภัยคุกคามทางไวรัสคอมพิวเตอร์ ลักษณะการโจมตีจากการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ลักษณะสงครามข่าวสาร (Information warfare ) และปฏิบัติการข้อมูลสารสนเทศ (Information Operation) ตลอดจนกรณีศึกษาจากคดีทางอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นจริง
ส่วนในภาคปฏิบัติจะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการค้นหาข้อมูลจากระบบค้นหาข้อมูล (Search Engine) การค้นหารายชื่อผู้จดทะเบียน รายชื่อเว็บไซต์ การค้นหาข้อมูลเชิงสถิติจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เรียนรู้การสังเกตเว็บไซต์ที่ใช้เป็นฐานในการกระทำความผิด ชนิดของเว็บบอร์ดที่ใช้แสดงความคิดเห็น ลักษณะของเว็บการพนัน ชุมชนออนไลน์รูปแบบต่างๆ เรียนรู้รูปแบบการอำพรางข้อมูล IP Address / E-mail / Short URL เทคนิคลับเพื่อใช้ในหาการข่าว การสืบสวน และการป้องปรามทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การสร้างแนวทางในการป้องปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมทั้งทดลองทำการจู่โจมและรับมือภัยคุกคามทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ด้วย
“หลักสูตรการอบรมฯ ครั้งนี้นอกจากจะทำให้ผู้เข้าอบรมมีหลักแนวคิดการสืบสวนอาชญากรรมทางเครือข่าย คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานได้จริงแล้ว ยังทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรับมือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการป้องปราม และป้องกันมิให้ภัยร้ายจากการใช้ข้อมูลสารสนเทศเกิดขึ้นและขยายตัวต่อไป การจัดอบรมครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมบุคลากรของรัฐให้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและกระจายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรับมือภัยไอซีที ตลอดจนส่งเสริมให้มีแนวทางการปฏิบัติร่วมที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ในการป้องกันและปรามภัยคุกคามด้านไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับภาครัฐ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางด้านไอซีที” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT