กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สกว.
“ไฟป่า....เกิดจากไฟคน”
นั่นคือ “ข้อสรุป” ที่ออกมาจากปากของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติภูเรือ ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมการเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของการเกิดไฟป่า ภายใต้โครงการวิจัยการป้องกันไฟป่าโดยการมีส่วนร่วมของชุม กรณีอุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค
งานวิจัยประเด็นนี้เกิดขึ้นเพราะทุก ๆ ปีมักเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ ... และทุกปีก็สร้างความเสียหายไปไม่ใช่น้อย และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มิได้เกิดเฉพาะต้นไม้ถูกเผาทำลายเป็นเถ้าถ่านเท่านั้น หาก “ไฟ” ยังเผาผลาญ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบอุทยาน — ไฟ ยังทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว และ ไฟ ก็ยังส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเช่นเดียวกัน
จากสภาพปัญหาข้างต้น โครงการวิจัยจึงกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์สาเหตุและผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติภูเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ศึกษาลงลึกไปถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชุมชนในการดูแลป้องกันไฟป่า รวมไปถึงการหาแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติภูเรือ
ทีมวิจัยที่ประกอบด้วยอาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย และทีมชาวบ้านได้ลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่รอบ ๆ อุทยาน ขณะเดียวกันก็พูดคุยและชักชวนชาวบ้าน แกนนำชาวบ้าน กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเรือและเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่ามาพูดคุยร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูเรือว่า จะมีวิธีการอย่างไรในการป้องกันไฟป่า…
ผลของการศึกษา พบว่า... “เหตุแห่งไฟ” ล้วนมีที่มาจาก “ปัญหาเศรษฐกิจ” ที่กระทบกันเป็นลูกโซ่...เพราะเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำกินไม่ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อรายได้ไม่พอกับปากท้องที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แหล่งรายได้เสริมก็คือ “ป่า” ชาวบ้านบางกลุ่มหาอาหาร หรือรายได้เสริมด้วยการเข้าป่าล่าสัตว์จำพวก นก หนู หมู ไก่...และเมื่อการเดินล่ามันยากและเหนื่อยเกินไปกับสภาพอากาศที่แล้งและร้อน ...วิธีที่ง่ายคือ “เผาเพื่อไล่” ให้สัตว์เหล่านั้นจนมุม และไปดักจับอีกด้านหนึ่ง...นี่คือวิธีการที่เหล่าพรานรอบอุทยานภูเรือนิยมใช้
“ไม่ใช่เพราะชาวบ้านไม่อยากอนุรักษ์ป่า...แต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ทำกินเท่าเดิม และเมื่ออาชีพที่ทำอยู่หารายได้ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทางออกของชาวบ้านอีกทางหนึ่งก็คือ การเผาป่า ซึ่งก็มาจากหลายสาเหตุ ทั้งกลุ่มที่ต้องการที่ทำกินเพิ่ม และกลุ่มที่เผาป่าเพื่อหาอาหาร” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว
สำหรับแนวทางป้องกันนั้น...ได้มีการระดมความคิดเห็นกันหลังทีมวิจัยได้นำเสนอข้อมูล และสาเหตุของการเกิดไฟป่าต่อที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มคน ทั้งชาวบ้านและแกนนำชุมชน ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนอุทยานแห่งชาติภูเรือ รวมถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันไฟป่าจังหวัดเลย
“ในที่ประชุมมีการเสนอแนวทางที่หลากหลาย...ภาคประชาชนเสนอให้ปลูกกล้วย เนื่องจากคุณสมบัติของตนกล้วยคือทนร้อน กินน้ำน้อย เก็บนำมาก และทำให้ดินดี ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้เสริม...บ้างแนะให้ทำฝายเก็บน้ำ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดไหม้ จะได้มีน้ำสำหรับดับไฟ- - ขณะเดียวกันก็จะทำให้ป่ายังคงความชื่น และติดไฟยาก ...แต่บางส่วนก็เสนอให้ทำแนวกันไฟ รวมไปถึงการชิงเผา...”
สำหรับภาครัฐ ปัญญา แสนสุภา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเป็น 1 ในทีมวิจัย กล่าวว่า ภูเรือมีไฟป่าเกือบทุกปี แต่ละปีก็สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก...
“ตอนนี้เราไม่ต้องมาโทษกันแล้วว่าไฟป่าเกิดจากใคร เพราะข้อมูลที่พวกเราร่วมกันเก็บมันก็บอกชัดอยู่แล้ว แต่คงต้องมาดูกันว่า ในอนาคต จะไม่ให้มันเกิดและสร้างความเสียหายต่ออุทยานแห่งชาติภูเรือ หรือแม้แต่ความเสียหายต่อชาวชาวบ้านได้อย่างไร”
ปลัดปัญญาเสนอแนวคิด อบรมให้ความรู้เรื่องไฟป่า และแนวทางการป้องกันเบื้องต้นกับชาวบ้าน เพราะการอบรมจะเป็นออกอีกทางหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องของการป้องกัน
“นอกจากการอบรม กลุ่มองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายต้องมาปรับแนวความคิดใหม่ว่า การรักษาป่า การอนุรักษ์ป่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ของป่าไม้ หรือของข้าราชการคนใดคนหนึ่ง เพราะคนเหล่านั้น มาแล้วก็ไป....ผมมองว่าชาวบ้านนี่แหละที่ได้รับผลกระทบ” ปลัดกล่าวพร้อมกับย้ำว่า สิ่งที่ควรทำก็คือต้องบูรณาการระหว่าง นักวิชาการ ชาวบ้าน และราชการ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการหยุดยั้งผลกระทบอันเกิดจากไฟป่า...
“การแก้ไขมันต้องทำให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ อาจต้องมีคนประสานงานระหว่างหมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ อุทยาน โดยเฉพาะเรื่องการชิงเผาซึ่งเราอาจต้องมากำหนดวันให้ดีว่าจะเผาช่วงไหน ถ้าเป็นไปได้ หากงานวิจัยเสร็จแล้วอาจมีการจะระบุลงไปในปฏิทินเลยว่า ช่วงเวลาไหนเป็นช่วงที่ทุกหมู่บ้านต้องชิงเผาป่า…ผมคิดว่าตอนนี่เรามาถูกทางแล้ว...เพราะที่ผ่านมาทั้งชาวบ้าน อุทยาน และ อบต. ไม่เคยมาตังวงพูดคุยกัน” ปลัดปัญญาสรุปทิ้งท้าย
ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการวิจัย ช่วยให้เกิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติภูเรือ เจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งแต่เดิมมักเห็นว่าสาเหตุของไฟป่านั้นก็คือชาวบ้าน รวมถึงภาครัฐ คือองค์การบริหารส่วนตำบลที่นอกจากจะมารับรู้สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตปกครองของตัวเองแล้วนั้น ยังมีส่วนช่วยในการกันงบประมาณเพื่อมาหนุนเสริมในกิจกรรมป้องกันไฟป่าเช่นเดียวกัน
แม้ในขณะนี้...ในขณะที่ไฟป่ากำลังโหมไหม้อยู่ในป่าเขาทั่วทั้งภาคเหนือ สร้างความเสียหายและสงผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน แต่คนภูเรือกำลังใช้ “กระบวนการวิจัย” ...ในการช่วยกันดับไฟป่าที่พวกเขารู้แล้วว่า “ไฟ” ไม่ได้ไหม้เฉพาะแต้ต้นไม้ในป่าเท่านั้น หากไฟยังเผาไหม้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบอุทยาน — ไฟ ยังทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว และ ไฟ ก็ยังส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเช่นเดียวกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 0-2270-1350-4 ต่อ 109
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net