กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ขานรับผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้ง “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารแห่งเดียวของอาเซียน”ยกระดับวัสดุสัมผัสอาหารปลอดภัย ส่งเสริมอาหารไทยสู่ตลาดโลก
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขานรับผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยไปยังตลาดโลก มูลค่ากว่าหกแสนล้านบาทต่อปี ตั้ง “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารแห่งเดียวของอาเซียน” ( ASEAN center for expertise in food contact materials) ซึ่งศูนย์นับเป็นห้องปฏิบัติการกลางด้านวัสดุสัมผัสอาหารระดับชาติ เป็นแหล่งอ้างอิงและรับรองทางวิชาการด้านวัสดุสัมผัสอาหารแก่ผู้ประกอบการส่งออกอาหาร ตั้งเป้าพัฒนาเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการเป็นแหล่งผลิตอาหารจำนวนมากสู่ตลาดโลก ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานเปิดศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียนอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดเผยถึงความพร้อมของการจัดตั้ง “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารแห่งเดียวของอาเซียน” ว่าปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์บริการถือเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกของประเทศที่ให้บริการทดสอบทั้งคุณภาพและความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารได้ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC: 17025 รวมทั้งได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบการสับปะรดกระป๋องและทูน่ากระป๋อง ซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก และผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าประเภทอื่นๆ ไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของวัสดุสัมผัสอาหารสู่อาหารที่บรรจุอยู่ เนื่องจากสินค้าจากประเทศไทยประสบปัญหาสินค้าถูกกักกันและถูกปฏิเสธการนำเข้าอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม สามารถทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านการปนเปื้อนของอาหารให้กับผู้ส่งออก ตลอดจนพัฒนาศักยภาพตามมาตรฐานและยกระดับให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารไปยังตลาดโลกตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ ”ครัวไทยสู่ครัวโลก”
การพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมอาหารที่นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการช่วยสนับสนุนและลดปัญหาให้แก่ผู้ส่งออกของไทย แล้วยังเป็นการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมอาหารไทยเพื่อรับมือกับกฎระเบียบ มาตรฐานและเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้า ที่ประเทศผู้นำเข้าเริ่มกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉพาะด้านระบบความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งคาดว่า กฎ ระเบียบ ใหม่ๆ นี้จะมีผลต่อสินค้าอาหารไทยที่ได้มีการบรรจุภัณฑ์และนำส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการเตรียมพร้อมสำคัญในการรักษาตลาดการนำเข้าสินค้าอาหารที่มีศักยภาพของไทย โดยสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าอาหารของไทยเป็นอันดับ 4 ในปี พ.ศ. 2549 ไทยส่งสินค้าอาหารเข้าตลาดสหภาพยุโรป มูลค่ารวม เจ็ดหมื่นกว่าล้านบาท โดย สินค้าอาหารไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในสหภาพยุโรปประมาณ 2.7% และมีแนวโน้ม เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกของไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรไปภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าถึง 2,856.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2553 นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ในปี 2552 สินค้าอาหารและข้าวของไทยมีมูลค่าส่งออก 19,561.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 7.37 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากสมาคมต่างๆได้คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและข้าวโดยรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 5-10% โดยกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ร้อยละ 10-13 อาหารทะเลกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง ร้อยละ 5 ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 7 ส่วนสินค้า ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป รวมถึงสินค้าข้าว คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกใกล้เคียงกับปี 2552 ”
นายเกษม พิฤทธิ์บูรณะ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การจัดตั้ง “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารแห่งเดียวของอาเซียน” เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการใช้ภาชนะบรรจุอาหารหรือวัสดุสัมผัสอาหาร และให้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนด้านต่างๆ รวมทั้งด้านวัสดุสัมผัสอาหารด้วย เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคนิคที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยที่เป็นอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินงานของคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียนได้มีมติเห็นชอบให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ เสนอให้เป็นศูนย์ เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารอ้างอิงของอาเซียน : ASEAN reference laboratory for food contact materials และต่อมาการประชุม ของคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียน (PFPWG : Prepared Foodstuff Product Working group) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ACCSQ : ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์อาเซียน ครั้งที่ 11 เมื่อเดือนกรกฏาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มีมติให้ประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนด้านวัสดุสัมผัสอาหาร
ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีความพร้อมด้านวิชาการด้านบุคลากร รวมทั้งได้มีการสร้างเครือข่ายกับห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ และพร้อมก้าวสู่การเป็นห้องปฏิบัติอ้างอิงแห่งเดียวของอาเซียน เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวกับวัสดุสัมผัสอาหารของประเทศสมาชิก เพื่อปรับให้เป็นแนวทางเดียวกัน ส่งเสริมการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของอาเซียนในด้านอาหาร ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวัสดุสัมผัสอาหารของผู้ประกอบการไทยในการเป็นแหล่งผลิตอาหารจำนวนมากเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก จะเป็นศูนย์ที่สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ผู้ประกอบการได้ทันการณ์ ดังเช่นล่าสุดนี้ได้รับมอบให้เป็นหน่วยงานหลักในการออกใบรับรองสินค้าที่สัมผัสอาหารส่งออกไปยังต่างประเทศ คือประเทศตุรกี ที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับกระทรวงพาณิชย์ และในอนาคตคาดหวัง เป็นศูนย์กลางในการทดสอบสารปนเปื้อนสินค้าและอาหาร รองรับการออกกฎ ระเบียบด้านวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร (food contact materials) ที่อ้างอิงบนข้อมูลหลักฐาน และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นกฏระเบียบของสหภาพยุโรปและของประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศคู่ค้าที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร 0 2201-7097-8 โทรสาร 0 2201-7470 e-mail: tarntip@dss.go.th , walaiporn@dss.go.th, http://www.dss.go.th