กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กพช.
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้ปรับแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าในระยะสั้นเพื่อรองร ับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยให้เร่งดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.นนทบุรี และขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกัน (SPP Cogeneration) เพิ่มเติมอีกประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ พร้อมกับปรับแผนให้มีการเร่งโครงการวังน้อยหน่วยที่ 4 และ จะนะ หน่วยที่ 2 ของ กฟผ. ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอีก 3 เดือน เพื่อให้แล้วเสร็จทันช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด
เนื่องจากมีความเสี่ยงที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) อย่างน้อย 2 รายต้องเลื่อนกำหนดการเข้าระบบ ทำให้ต้องมีการปรับประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าและการจัดหาไฟฟ้าในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยพบว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่ประเมินขึ้นใหม่มีค่าสูงกว่าค่าพยากรณ์เดิมที่ใช้จัดทำแผน PDP 2010 มาก คือ สูงขึ้น 1,320 เมกะวัตต์ ในปี 2553 สูงขึ้น 1,633 เมกะวัตต์ ในปี 2558 และสูงขึ้น 1,915 เมกะวัตต์ในปี 2562
กพช.ยังได้หารือแนวทางการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) และอัตราค่าบริการสถานี LNG (LNG Receiving Terminal Tariff) เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับการนำเข้า LNG ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ซึ่งจากแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว (พ.ศ.2553—2573) จะมีการนำเข้า LNG จำนวน 0.5 ล้านตันต่อปีในปี 2554 และจะมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นในอนาคต
แนวทางการคำนวณราคา LNG นำเข้า ประกอบด้วยราคาเนื้อ LNG ซึ่งหมายถึงราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซ LNG ที่ส่งเข้าระบบส่งก๊าซธรรมชาติรวมค่าขนส่งถึงสถานี LNG และค่าใช้จ่ายในการนำเข้า มีหน่วยเป็นบาทต่อล้านบีทียู
ส่วนค่าบริการสถานี LNG นั้น เป็นค่าบริการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ โดยอัตราค่าบริการสถานี LNG ต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจของสถานี LNG ควรแยกความรับผิดชอบระหว่างการดำเนินกิจการสถานี LNG กับกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ อีกทั้งประมาณการความต้องการ LNG ที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการต้องสอดคล้องกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ สูตรโครงสร้างราคา LNG จะประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซ LNG + ค่าบริการสถานี LNG โดยที่ราคาเนื้อก๊าซ LNG นั้นหมายถึง ราคานำเข้า LNG (เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักรายเดือน) + ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า
นพ.วรรณรัตน์ กล่าวอีกว่า กพช. ได้พิจารณาเรื่องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ของกลุ่มบริษัทเชฟรอน โดยเห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากข้อบังคับในสัญญาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัจจุบัน กฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ทำสัญญาเมื่อปี 2534 เช่น คุณสมบัติและโครงสร้างของกรรมการ เป็นต้น จึงต้องแก้ไขสัญญาเพื่อให้บริษัทฯ สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามสัญญา
โดยให้กระทรวงพลังงานไปเจรจากับบริษัทฯ เพื่อกำหนดระยะเวลาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เหมาะสม และดำเนินการแก้ไขสัญญาต่อไป พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบให้ใช้ วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาระหว่าง ปตท. และกลุ่มบริษัทเชฟรอน ในสัญญาผู้ถือหุ้น และสัญญาเชิงพาณิชย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม เพราะเป็นวิธีการที่นักลง ทุนต่างชาติให้การยอมรับ
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช.ยังเห็นชอบโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็กระบบ Cogeneration ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และรองรับโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเป็นโครงการที่สนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย พ.ศ. 2553 — 2573 (PDP 2010) รวมทั้งสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมในพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงได้เพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 500 เมกะวัตต์