กทม.ขอเชิญบูชาสุดยอดวัตถุมงคล “พระศรีศากยมุนี - พระตรีมูรติ” เนื้อผงไม้เสาชิงช้า

ข่าวทั่วไป Monday June 18, 2007 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กทม.
กทม.จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นประวัติศาสตร์ ที่ระลึกฉลองเสาชิงช้าใหม่ บูชาพระศรีศากยมุนีพระคู่บ้านคู่เมืองเพื่อความมั่นคงรุ่งเรือง บูชาพระตรีมูรติเพื่อความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน ความรัก รวมมวลสารหายากจากไม้เสาชิงช้าต้นดั้งเดิมและไม้เสาชิงช้า ใหม่ และมวลสารศักดิ์สิทธิอีกมากมาย เปิดให้จองพระจนถึงทำพิธีมหาพุทธาภิเษก-มหาเทวาภิเษก 26 ก.ค.นี้ ที่ลานคนเมือง นิมนต์เกจิอาจารย์ดังทั่วประเทศกว่า 100 รูป ร่วมนั่งปรก พร้อมทั้งน้ำมนต์นครฐานสูตรกรุงรัตนโกสินทร์ 225 ปี
นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เสาชิงช้าถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงแข็งแรงของบ้านเมือง การบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าใหม่ในครั้งนี้ถือเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคาดว่าเสาชิงช้านี้จะอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปอีกนานนับร้อยปีจึงจะมีโอกาสแห่งการบูรณะและฉลองเสาชิงช้าครั้งต่อไป ดังนั้นเพื่อระลึกถึงวาระสำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดสร้าง “พระเสาชิงช้า” ในรูปของ “พระศรีศากยมุนี” และ “พระตรีมูรติ” ให้ประชาชนชาวไทยได้มีไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นที่ระลึก
พระศรีศากยมุนี พระประจำกรุงเทพฯ —พระตรีมูรติรวม 3 อำนาจสูงสุด
พระเสาชิงช้าถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคล ที่รวมแห่งศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากจำลองมาจากพระศรีศากยมุนีซึ่งเป็นพระประจำกรุงเทพมหานคร เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย (สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือราวหกร้อยกว่าปีมาแล้ว) มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นวัดที่โปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณจุดกึ่งกลางพระนคร
ส่วนพระตรีมูรตินั้น เป็นรูปเคารพที่รวมเทพทั้ง 3 องค์ไว้ในรูปเดียวกัน คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ถือเป็นการรวมตัวกันของพลังทั้ง 3 ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และมีอำนาจสูงสุด เชื่อกันว่าการบูชาพระตรีมูรติเป็นประจำจะประสบแต่ความอุดมสมบูรณ์ทั้งในชีวิต หน้าที่การงาน และความรัก ซึ่งเหมาะที่จะเป็นวัตถุมงคลของประชาชนชาวไทยในยุคที่บ้านเมืองต้องการความรักความสมานฉันท์เช่นปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
พระผงสร้างจากมวลสารศักดิ์สิทธิ์
นายพิชัย กล่าวว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเสาชิงช้ามีความพิเศษตรงที่มวลสารที่นำมาจัดสร้างพระผง ได้ทำพิธีบวงสรวงขอพลีมาจากเสาชิงช้าต้นเก่า และมวลสารของเสาชิงช้าต้นใหม่ซึ่งเป็นไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี นำมาบดละเอียดเป็นส่วนผสมหลัก รวมกับมวลสารที่เป็นมงคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวบรวมมาจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 9 วัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ร่วมกันเขียนยันต์ลงผง ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช และมวลสารจากการจัดสร้างวัตถุมงคลในวโรกาสที่สำคัญ ได้แก่ 90 พรรษาสมเด็จย่า, 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, 72 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 72 พรรษาพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
เนื่องในวาระพิเศษปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา กรุงเทพมหานครจึงจัดสร้างพระศรีศากยมนี ซึ่งด้านหลังเป็นรูปเสาชิงช้าและพระวิหารวัดสุทัศน์ เป็นพระทองคำแท้หนัก 2 บาท เป็นรูปวงรี ขนาด 3x2 ซม. เพื่อทูลเกล้าฯถวาย พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนผู้สนใจสั่งจองในราคา 29,999 บาท นอกจากนี้ยังมีพระชุดกรรมการ (พระศรีศากยมุนีและพระตรีมูรติ)ทำจากเนื้อไม้เสาชิงช้า ชุดละ 8 องค์ จัดทำจำนวนทั้งสิ้น 9,999 ชุด ให้สั่งจองในราคาชุดละ 5,999 บาท
นิมนต์พระเกจิอาจารย์ดังทั่วประเทศร่วมปลุกเสก
ด้านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เพื่อเสริมสิริมงคล และเพิ่มคุณค่าทางจิตใจต่อผู้ที่บูชาพระเสาชิงช้า กรุงเทพมหานครกำหนดฤกษ์ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก และมหาเทวาภิเษก ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ณ บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นประธานจุดเทียนชัย และพระวิสุทาธิบดี วัดสุทัศน์เทพวราราม ดับเทียนชัยในพิธี ทั้งนี้ได้นิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และพระเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา จำนวน 100 รูปขึ้นไป เข้าพิธีนั่งปรกระเสาชิงช้าครั้ง 33 องค์ อาทิ หลวงพ่อสมเกียรติ วัดทินกรนิมิตร , หลวงพ่อเอื้อน วัดสามพระยา, หลวงพ่อชูชาติ วัดท่าไทร, หลวงพ่อสุทิน วัดธรรมมิการาม, หลวงปู่ทิม วัดพระขาว, หลวงพ่อเฉลิม วัดญาติการาม, หลวงพ่อน้ำฝน วัดไผ่ล้อม เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้นิมนต์ระชั้นผู้ใหญ่ร่วมสวดพระอภิธรรม อาทิ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ, พระศาสนโสภณ วัดราชบพิตรฯ, พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศฯ, พระพรหมเมธาจารย์ วัดบูรณศิริฯ, พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิตรฯ ,พระธรรมรัตนดิลก วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้น
ปลุกเสกน้ำมนต์ประสานใจให้คนไทยสามัคคี
อย่างไรก็ดีก่อนที่จะถึงพิธีใหญ่ของการพุทธาภิเษก -เทวาภิเษก กรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดพิธีปลุกเสกทำน้ำมนต์นครฐานสูตรกรุงรัตนโกสินทร์ 225 ปี ให้ชื่อว่า “น้ำมนต์ประสานใจให้คนไทยสามัคคี” เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับบ้านเมือง และแจกจ่ายให้ผู้มาร่วมในงานฉลองเสาชิงช้าใหม่ โดยได้นิมนต์หลวงปู่ทิม มาเป็นเจ้าพิธีในการปลุกเสก ในวันที่ 16 กรกฏาคม 2550 นี้ ณ วัดสุทัศน์ฯ
เปิดจองพระเสาชิงช้าถึงวันปลุกเสก 26 ก.ค.
“พระเสาชิงช้านี้จะเป็นรุ่นแรก และรุ่นเดียว ที่จัดทำขึ้นในโอกาสฉลองเสาชิงช้าใหม่นี้เท่านั้น กรุงเทพมหานครจึงอยากให้ประชาชนได้มีไว้บูชา ซึ่งได้เปิดให้สั่งจองตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 และขยายกำหนดจองไปถึงวันทำพิธีมหาพุทธาภิเษก คือ 26 กรกฏาคม 2550 ผู้สนใจสามารถสั่งจองได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. ที่สำนักงานเขต 50 เขตวันเวลาราชการ และที่ตลาดนัดจตุจักรในวันเสาร์ — อาทิตย์ โดยกรุงเทพมหานครจะนำรายได้ไปจัดตั้งกองทุนเสาชิงช้า เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเสาชิงช้า เช่น การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งต่อๆ ไป อีกทั้งนำรายได้ส่วนหนึ่งใช้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับจังหวัดแพร่ เช่น สร้างศูนย์การเรียนรู้ไม้สักทองเสาชิงช้า ที่จังหวัดแร่ซึ่งได้เสียสละต้นสักทองอันล้ำค่าทั้ง 6 ต้นมาทำเสาชิงช้าต้นใหม่ด้วย” รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำ
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับพระเสาชิงช้าและวิธีสั่งจอง สามารถสอบถาม โทร. 0 2224 — 2958, 0 2224 3047 หรือ 0 2221 2141 ต่อ 1423, 1424, 1461

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ