กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ปัญหาเด็กตีกัน ยิงกันบนรถเมล์ เกเร หนีเรียน ติดยาเสพติด เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่น ไม่รู้จักแบ่งปัน และอีกหลากหลายปัญหาของเยาวชนในสังคมไทยที่ยังแก้ไม่ตก แต่เสียงสะท้อนของเยาวชนน้องๆ แกนนำจิตอาสา และคุณครูที่ปรึกษาของพวกเขา ได้เปิด “มุมมองใหม่” ว่า เยาวชนไทยทุกคนล้วนมีความใฝ่ดีอยู่ในตัวทั้งสิ้น และพวกเขาสามารถใช้ “พลังบวก” ของตัวเองในเชิงสร้างสรรค์ได้ ถ้าหากพวกมี “โอกาส” และมี “พื้นที่” ในการลงมือทำ ให้พวกเขาได้แสดงออก แม้แต่เด็กที่เคยเกเรมาก่อนก็สามารถ “ปรับเปลี่ยน” ตัวเองให้มาใช้พลังเชิงบวก ที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ครอบครัว และสังคมได้
นางสาวภัทรกร เอื้อทิตย์สกุล “พลอย” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์เล่าว่า ช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.ต้น เกเรมาก พาล ทำทุกอย่างมนุษย์เขาไม่ทำกัน มองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากตัวเอง เห็นแก่ตัวที่สุด ไม่ช่วยเหลือใคร เอาแต่ใจตัวเอง แต่เมื่อได้เขามาทำกิจกรรมจิตอาสา ทำให้ได้พบกับสังคมแบบใหม่ ได้พบเด็กกำพร้า คนพิการ และคนชรา ได้เห็นความทุกข์ยากของคนเหล่านี้ ทำให้มีโอกาสย้อนกลับมามองตนเอง และคิดว่าเราน่าจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
“การทำกิจกรรมจิตอาสาครั้งแรก อาจารย์ให้เขียนความรู้สึกก่อนและหลังทำกิจกรรมว่ารู้สึกอย่างไร ซึ่งตอนที่เขียนนั้น ไม่คิดเหมือนกันว่าความรู้สึกในตอนนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ด้วยความที่เป็นคนเกเร อาจารย์หลายคนบอกว่าหนูไม่น่าจะเรียนต่อถึง ม.6 ได้ แต่เมื่อวันนี้มาถึงอาจารย์บอกว่าตนทำได้อย่างที่คิดไว้แล้ว รู้สึกภูมิใจมาก จึงอยากบอกเพื่อนๆ ว่า ความดีนั้นทำได้ไม่ยาก และเมื่อทำบ่อยๆ แล้วจะเกิดความรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คนยอมรับเรามากคน และเมื่อเราได้รับแล้ว เราก็เริ่มจะให้คนอื่นมากขึ้นตามไปด้วย"
อาจารย์ยุพดี ขำดี โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ กล่าวว่า น้องพลอยสมัยเรียนอยู่ ม.ต้น เรียกได้ว่าเกเรสุดฤทธิ์สุดเดช พออยู่ชั้น ม.2 พลอยต้องเข้าชุมนุม แต่ไม่ว่าพลอยจะไปอยู่ชุมนุมไหนก็ถูกคนปฏิเสธหมด จนได้ไปอยู่ชุมนุมร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ที่มีคุณครูที่เข้าใจเด็กพอสมควร พอถึงปลายเทอมชมรมต้องพาเด็กไปเรียนรู้ข้างนอก ที่บ้านเฟื่องฟ้า เมื่อกลับมาเด็กทุกคนต้องเขียนว่ามองตัวเองอย่างไร ได้เห็นอะไร และจะมาพัฒนาตัวเองอย่างไร หลายวันผ่านไปคุณครูในชุมนุมเอางานเขียนของพลอยมาให้อ่านมีใจความว่า “ครอบครัวพลอยพร้อมทุกอย่าง จะเอาอะไรคุณแม่ก็ให้ แต่พลอยก็สร้างความลำบากให้คุณแม่มาโดยตลอด เด็กๆ ที่พลอยไปพบมา ด้อยกว่าพลอยทุกอย่าง ทำไมเขาทำตัวไม่เป็นปัญหา เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วพลอยคิดว่าน่าจะสามารถทำอะไรเพื่อส่วนรวมได้บ้าง” เรียกได้ว่าประสบการณ์ตรงจากการที่พลอยได้ไปทำกิจกรรมจิตอาสา ช่วยดึงพลังในตัวพลอยออกมา ตนอยากบอกว่าเด็กๆ มีพลังและเมล็ดพันธุ์แห่งความดีทุกคน เพียงแต่เราจะดึงพลังเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร
จากเด็กที่เรียกได้ว่า “เกเร เหลือขอ” แต่ในวันนี้พลอย เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน ชื่อของ “พลอย” กลายเป็นชื่อที่ติดปากของคนทั้งโรงเรียน เป็นนักเรียนที่เป็นกำลังสำคัญในการทำกิจกรรม ปัจจุบันพลอยเรียนอยู่ชั้น ม.6 และได้โควตาพิเศษของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว พลอยบอกว่าอะไรก็ตามถ้าทำด้วยตัวเอง เห็นด้วยตัวเองจะทำได้ง่ายขึ้น ขณะนี้พลอยกำลังวางแผนให้น้องๆ สานงานต่อ โดยพลอยบอกกับน้องๆ ว่า ให้น้องมาช่วยกันทำงาน ใครมีพลังอะไรก็ให้ดึงออกมา เพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น
นายดำรงศักดิ์ สุพรเงิน “เหน่ง” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม เป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งที่ชีวิตเลี้ยวกลับจากทางเสี่ยง มาสู่ทางบวก เพราะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมจิตอาสา เหน่ง บอกว่า เมื่ออยู่ชั้น ม. 4 เหน่งได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ให้เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาลร่วมกับพี่ๆ ที่มูลนิธิกระจกเงา ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เหน่งได้ค้นพบตัวเอง ได้รู้จักเพื่อนๆ หลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ รู้จักการ “ให้” จากเดิมที่เคยเป็นคนที่เห็นแก่ตัวสุดๆ ไม่สนใจเรียนหนังสือ โดดเรียนไปเล่นเกม ทะเลาะวิวาทกับเด็กอื่นๆ ก็หันมาสนใจเรียนหนังสือ รู้จักแบ่งเวลาเป็น เหน่งบอกว่าการ “ให้” ในมุมมองของเหน่ง คือ การที่เราทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน ถ้าทำแล้วรู้สึกดีมีความสุขก็ทำต่อไป เพื่อที่ความสุขนั้นจะย้อนกลับมาหาเราเองโดยไม่รู้ตัว
ในขณะที่ “ไอซ์” นายคเณศวร บ่อแก้ว นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม ซึ่งเป็นรุ่นน้องของเหน่ง จากเด็กบีบอยหลังห้อง ที่ก้าวเข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสา เพราะได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ จนทำให้เขาปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของตัวเอง จนปัจจุบันเขาได้รับไม้ต่อจากรุ่นพี่ โดยมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมจิตอาสา ของโรงเรียน “ไอซ์” เล่าว่า เป็นคนที่ชอบเต้นบีบอยมาก ว่างเมื่อไรต้องหาเวลาซ้อมเต้นอยู่เสมอ ไม่ได้สนใจอย่างอื่น เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสา เพราะอาจารย์ชวน คิดว่าน่าสนใจ เลยลองทำดู ซึ่งเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เมื่อได้ทำแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มั่นใจมากขึ้น เห็นพลังและศักยภาพของตนเอง นอกจากกิจกรรมจิตอาสาแล้ว “ละครจิตอาสา” คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่ไอซ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมด้วย ไอซ์บอกว่า “ละคร” ทำให้ไอซ์เป็นคนมีระเบียบ รู้จักการจัดการ การวางแผน ได้ช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักการ “ให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน และการ “ให้” ใจต้องมาก่อนเราจึงจะ “ให้” คนอื่นได้ แม้พวกเรา “จิตอาสา” จะมีสมาชิกน้อย แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “สังคมไทย” ดีขึ้น
“เบียร์” นายเจตน์นิมิตร แก้วเกตุ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคมเพื่อนนักเรียนบีบอย ของไอซ์ เล่าว่า ไม่เคยคิดเลยว่าในชีวิตนี้จะต้องมาทำ “จิตอาสา” เพราะเป็นเด็กที่เกเรมากๆ ไม่ชอบช่วยเหลือใคร เงียบๆ ไม่ยุ่งกับใคร ชีวิตวันๆ หนึ่งอยู่กับการเรียนและการเต้นบีบอยเท่านั้น จนวันหนึ่งอาจารย์มาชวนไปทำกิจกรรมที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด เบียร์ ไอซ์ และพี่เหน่งก็ไปร่วมด้วย โดยไปบริจาคอาหารกลางวัน ร้องเพลง และเต้นให้เด็กๆ ดู เป็นการนำความสุขมาให้เด็กๆ ทำงานจิตอาสามาเกือบปีแล้ว ไม่คิดว่าจะมี “ความสุข” มากขนาดนี้ จากเดิมที่ไม่ค่อยคุยกับใคร ก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์พูดุคุยกับคนอื่นมากขึ้น กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำสูงขึ้น และรู้ว่าการที่เราจะนำคนอื่นได้ เราต้องนำตัวเองให้ได้ก่อน
สำหรับ “ปลา” นางสาวปาลีรัตน์ ชำนาญวิทย์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯเล่าว่า เดิมไม่เคยได้ทำกิจกรรมเลย เรียนอย่างเดียว เพราะโรงเรียนเดิมเน้นวิชาการเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ามาเรียน ม.4 ที่นี่ ทำให้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการละครจิตอาสา ซึ่งจากกิจกรรมนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการทำกิจกรรมช่วยพัฒนาตัวเองอย่างมาก ปัจจุบัน “ปลา” รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ทำละครจิตอาสา และนำเงินที่ระดมได้ไปทำกิจกรรมกับน้องผู้ป่วยโรคเอดส์ และน้องด้อยโอกาส ร่วมกับเพื่อนกลุ่มอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถ และมีประโยชน์กับคนอื่น
“หนู กับเพื่อนๆ น้อง ๆ เล่นละครเปิดหมวกระดมทุน ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสวนเบญจสิริ ได้เงิน 2,000 กว่าบาท แต่ดีใจมาก เงิน 2,000 กว่าบาท ถ้าเราได้เป็นของขวัญที่พ่อแม่ซื้อให้เรา ก็ดีใจ แต่คนได้ประโยชน์แค่เรา แต่เงิน 2,000 บาท ที่เราช่วยกับน้อง และเพื่อนช่วยกันหามาได้ มันเป็นความร่วมมือร่วมใจของพวกเรา และที่สำคัญ คือ เงิน 2,000 ทำให้น้องๆ ผู้ป่วยโรคเอดส์หลายสิบคนได้มีความสุขไปด้วย มันภูมิใจมาก”
“ปลา” แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนเยาวชนที่ทำกิจกรรมของโรงเรียน โดยเฉพาะกิจกรรม “จิตอาสา” ว่า อยากให้ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ และสนับสนุน โดยเฉพาะพ่อแม่ควรสนับสนุนเด็กทำจิตอาสา เพราะถ้าพวกเขาไม่ได้เริ่มขณะที่พวกเขายังเป็นเด็กๆ พวกเขาก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ยิ่งโตขึ้นเท่าไรโอกาสที่จะได้ทำกิจกรรมเช่นนี้ก็ยากขึ้น
ด้านอาจารย์สุภาภัค ผ่องน้อย โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม เล่าว่า ในฐานะครู ถือเป็นความภูมิใจที่ได้เห็นลูกศิษย์เติบโต สามปีที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงาและมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการพานักเรียนไปเรียนรู้นอกสถานที่ ภาพที่ประทับใจมากที่สุดคือภาพที่ “เหน่ง” อุ้มผู้ป่วยตัวเล็กๆ ดูต้นไม้ ดูวิว เห็นแล้วอึ้งมาก ไม่คิดว่าเด็กที่เกเรคนนี้จะทำได้ เพราะเมื่อพูดถึงเหน่งครูทุกคนจะส่ายหน้ากันหมด แต่กิจกรรมนี้ทำให้เหน่งได้ค้นพบตัวเอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเหน่งเลยทีเดียว เพราะหลังจากนั้นเหน่งและเพื่อนๆ ก็ร้องขอว่าจะไปทำกิจกรรมเล่นดนตรีเปิดหมวก เพื่อนำทุนที่ได้ไปบริจาคให้มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ปัจจุบันเหน่งมีผลการเรียนดีขึ้น จากเดิมที่เกรดไม่ถึง 1.00 เมื่ออยู่ขั้น ม.4 ก็เพิ่มเป็น 2.8 จนปัจุบัน “เหน่ง” ได้เกรด 3 กว่า สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ เป็นความภูมิใจของครูทุกๆ คน ส่วน “ไอซ์” กับ “เจษ” ซึ่งเป็นเด็กบีบอยก็ต้องบอกว่ากิจกรรมจิตอาสาทำให้พวกเขาค้นพบตัวเอง เกิดจุดเปลี่ยนด้วยตัวเอง ในฐานะครูคิดว่าถ้าสังคมไทยมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็ก หาพื้นที่ บรรยากาศให้เด็กได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกัน เราจะมีเด็กดีแบบนี้อีกมากมาย
นายกิตติพัส กลิ่นเล็ก “พัส” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวว่า “ตั้งแต่เกิดจนถึงม.1 ไม่เคยทำอะไรให้โรงเรียนเลย เรียนเล่นตามที่พ่อแม่บอกเท่านั้น แต่เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.2 เพื่อนส่งใบอบรมเกี่ยวกับ “ละครจิตอาสา” มาให้ ก็สมัคร เพราะอะไรที่ไม่ได้เรียนจะชอบ หลังอบรมผ่านไปสองสัปดาห์ถึงเวลาต้องแสดงละครให้คนอื่นดู ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะทำได้ไหม เพราะทุกวันนี้แค่เล่าอะไรให้ใครฟัง ก็ยังไม่รู้เรื่องเลย แต่หลังจากได้เรียนรู้กระบวนการละคร ผมได้อะไรเยอะมาก ถ้าวันนั้นผมไม่ได้เซนต์ชื่อเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ผมคงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ ในความคิดของผมคำว่า “จิตอาสา” ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าทุกคนในสังคมไม่เห็นแก่ตัว สังคมไทยทุกวันนี้ไม่มีใครคิดทำจิตอาสาอย่างจริงจัง เบื่อที่จะทำ แต่ผมอยากบอกว่าหากใครได้ทำแล้วจะ “หยุด” ไม่ได้ เพราะจะรู้สึกว่ามี “ความสุข” มากที่ได้เห็นคนอื่นยิ้มให้กับเรา ได้เห็นความสุขจากคนอื่นๆ”
อาจารย์จรรยา ศุภนิมิตร โรงเรียนสันติราษฏร์วิทยาลัย เล่าว่า โรงเรียนได้นำกิจกรรมที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุนทั้งกิจกรรมจิตอาสา ละครจิตอาสา หรือแม้แต่เปเปอร์เรนจเอร์มาต่อยอด ด้วยการให้กลุ่มเด็กที่ทำละครจิตอาสา เล่นละครตอนเช้าระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธง ทั้งละครเกี่ยวกับเอดส์ เพศศึกษา ฯลฯ ซึ่งดีกว่าการให้เด็กๆ มานั่งฟังครูบ่น ดูละครเพียง 5 นาทีเด็กได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน นอกจากนี้ที่โรงเรียนยังนำกิจกรรมต่างๆ ไปบูรณาการกับหลายชุมนุม เช่นในกิจกรรมทำสมุดสองหน้าเราให้เด็กนำข้อมูลเรื่องเอดส์ไปสอดแทรกในสมุดและนำสมุดนั้นส่งต่อให้คนในชุมชนต่อไป การทำกิจกรรมของเด็กๆครูต้องเป็น “โค้ช” ที่ดีให้กับเด็ก ต้อง “กระตุ้น” และหากิจกรรมใหม่ๆ ให้เด็กได้ทำอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมจึงจะยั่งยืนและเกิดความต่อเนื่องได้ ครู
นางสาวกรวิกา ก้อนแก้ว หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ในฐานะพี่เลี้ยง สองปีที่ทำงานกับเด็ก ได้เห็นว่าเด็กๆ มีใจอยากทำ ทำเต็มที่ แม้ว่าตนไม่เคยรู้ข้อมูลของเด็กเลยว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กดี เป็นเด็กเกเร แต่เห็นว่าเด็กๆ ทุกคนทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี หน้าที่ของ “พี่เลี้ยง” ที่สำคัญคือต้อง “เปิดใจ” ว่าเราจะให้อะไรกับเด็ก เมื่อเราเปิดใจแล้วจะทำให้เราเรียนรู้ไปด้วยกันได้ ทำงานเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน เพราะบางครั้งเด็กแนะนำว่าทำไมพี่ไม่ทำอย่างนั้น การทำงานจะเกิดผลที่ได้เราต้องร่วมคิดร่วมทำไปกับเด็ก