กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สกธ.
ผลการศึกษาระบุ การชันสูตรพลิกศพตามหลักศาสนาอิสลาม " ทำได้" โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนของการชันสูตรต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำเป็นและห้ามมิให้ล่วงเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต
ความยืดเยื้อของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้คนไทยทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมสังเวยชีวิตไปแล้วนับพันราย เป็นความสูญเสียที่ยังคงต้องทำให้กระจ่างชัด รวมทั้งกระบวนการชันสูตรพลิกศพโดยเฉพาะกรณีผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและเป็นไปอย่างถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระทบหลักความเชื่อทางศาสนา
การศึกษาเรื่อง "ระบบการชันสูตรพลิกศพในประเทศมุสลิม" ตามโครงการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศมุสลิมโดยว่าที่ร้อยตรีพรินทร์ เพ็งสุวรรณ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การตายของคนเรานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ การตายตามธรรมชาติหรือการตายทางพยาธิวิทยา และการตายผิดธรรมชาติหรือการตายทางนิติเวชวิทยา ซึ่งการตายแบบผิดธรรมชาติหรือการตายทางนิติเวชวิทยานี้เองที่ต้องใช้การชันสูตรพลิกศพเป็นวิธีการในการตรวจร่างกายผู้ตาย เพื่อค้นหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความตายแก่บุคคลนั้น
ในปัจจุบันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดเหตุการณ์ตายที่ต้องทำการชันสูตรไว้ 5 ประการ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย การถูกผู้อื่นทำให้ตาย การถูกสัตว์ทำร้ายตาย การตายโดยอุบัติเหตุและการตายโดยยังไม่ปรากฏสาเหตุ
ระบบการชันสูตรพลิกศพ คือ วิธีหรือแบบแผนในการจัดการกับศพภายหลังจากการตายแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมอบอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ต่างกัน ดังนั้นระบบการชันสูตรพลิกศพจะเป็นระบบใดนั้น จะต้องพิจารณาจากอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับการตายและการสั่งให้ทำการผ่าศพตรวจ ซึ่งในระบบการชันสูตรพลิกศพของประเทศต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 5 ระบบ ได้แก่ ระบบโคโรเนอร์ ( Coroner System) ระบบแพทย์สอบสวน (Medical Examiner System) ระบบศาล (Court's System) ระบบตำรวจ ( Police System) และระบบผสม (Mixed System)
การชันสูตรพลิกศพตามหลักศาสนาอิสลาม จากหลักความเชื่อของศาสนาอิสลามที่ว่า "กรณีผู้นับถือศาสนาอิสลามเสียชีวิต ให้รักษาศพไว้ในสภาพเดิม ห้ามให้มีการทำลายศพโดยเด็ดขาดและห้ามทำรุนแรง เพราะว่า หลักศาสนาอิสลามถือว่ามนุษย์ทุกคนที่พระอัลลอฮ์ทรงสร้างมาเป็นสิทธิของพระองค์ที่จะห้ามมิให้ใครมาทำลาย" ซึ่งจากความเชื่อดังกล่าว ในกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติ ถ้าผู้ตายเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะเกิดปัญหา ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ผู้ตายนับถือศาสนาอิสลามซึ่งตายโดยผิดธรรมชาติ เจ้าพนักงานสามารถทำการชันสูตรพลิกศพได้หรือไม่ 2) ถ้าสามารถทำการชันสูตรพลิกศพได้จะมีขอบเขตการชันสูตรพลิกศพในระดับใด
แนวปฏิบัติในปัจจุบัน พบว่า การชันสูตรพลิกศพเป็นสิ่งต้องห้าม แต่จากหลักความจำเป็นและหลักประโยชน์ที่เหนือกว่าทำให้การชันสูตรพลิกศพที่เป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ โดยดำเนินการทุกขั้นตอนของการชันสูตรต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำเป็น และห้ามมิให้ล่วงเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้จากการศึกษาการชันสูตรพลิกศพของประเทศมุสลิมอื่น ๆ พบว่า ประเทศอิหร่าน ใช้ระบบการชันสูตรพลิกศพแบบ ระบบแพทย์สอบสวน (Medical Examiner System) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สถาบันนิติเวช ( The Legal Medicine Organization-L.M.O.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการชันสูตรพลิกศพของประเทศทั้งระบบ และมีหน่วยงานในสังกัดเรียกว่า ศูนย์นิติเวช (Medico — Legal Centers —M.L.C ) จัดตั้งขึ้นตามระเบียบการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ เรียกว่า L.M.Office's Regulation Rule บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1967 และมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปี ค.ศ.1993
การชันสูตรพลิกศพของประเทศอิหร่านจะกระทำต่อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายจากการถูกฆาตกรรมซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการชันสูตรพลิกศพจะต้องเป็นแพทย์ที่ได้ใบรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นฆ่าตาย ตายด้วยอุบัติเหตุ ตายเพราะถูกสัตว์ทำร้าย หรือตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ แพทย์จะทำรายงานส่งให้ตำรวจ และในบางกรณีศาลอาจสั่งให้สถาบันนิติเวชหรือศูนย์นิติเวชทำการชันสูตรพลิกศพเพื่อค้นหาสาเหตุแห่งการตายและพฤติการณ์แห่งการตายได้
ประเทศอียิปต์มีระบบการชันสูตรพลิกศพแบบระบบโคโรเนอร์ ( Coroner System) ที่มีความคล้ายคลึงกับระบบชันสูตรพลิกศพของประเทศอังกฤษ โดยผู้ที่เป็นโคโรเนอร์ คือ พนักงานอัยการ (Procurator Fiscal ) ซึ่งจะทำหน้าที่สืบสวน สอบสวนการตายที่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา
การชันสูตรพลิกศพของประเทศอียิปต์จะเกิดขึ้นในกรณีที่เป็นการตายโดยไม่ทราบสาเหตุ การตายจากอุบัติเหตุ การตายจากคดีอาชญากรรม การฆ่าตัวตาย และการตายระหว่างการผ่าตัดหรือตายก่อนที่จะฟื้นจากยาสลบ โดยโคโรเนอร์จะสั่งให้สถาบันนิติเวชของรัฐบาลอียิปต์ ( The Egyptian Government's Medico-Legal Institute) ทำการชันสูตร โดยมีพยาธิแพทย์ของสถาบันเป็นผู้ร่วมชันสูตรซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ คือ การพิสูจน์รูปพรรณ จำแนกรอยแผลเป็น ข้อมูลทางทันตกรรม ระเบียนรูปถ่าย และรูปพรรณจากการพิมพ์ลายนิ้วมือ
สำหรับประเทศไทย มีข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ 1) เพื่อมิให้ขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม การชันสูตรพลิกศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีวิธีการอื่นที่จะค้นหาสาเหตุการตายได้เท่านั้น 2) แพทย์ต้องอธิบายให้ญาติของผู้ตายทราบถึงรายละเอียดและความจำเป็นในการชันสูตรพลิกศพ 3) การชันสูตรพลิกศพ จะต้องไม่กระทำในลักษณะที่เป็นการประจานศพ หรือไม่ให้เกียรติศพ 4) อำนาจหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ รวมถึงอำนาจการตัดสินใจในการดำเนินการชันสูตรพลิกศพและผ่าศพ พนักงานสอบสวนควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด 5) ควรจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมารับผิดชอบงานทางด้านการชันสูตรพลิกศพที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอาญา เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนิติเวชศาสตร์ และเป็นกลไกในการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน 6) สำนักจุฬาราชมนตรี ควรเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลามถึงเจตนารมณ์และความจำเป็นในการชันสูตรพลิกศพ 7) ควรจัดทำคู่มือสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการชันสูตรพลิกศพและผ่าศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ ตำรวจ แพทย์ พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง ผู้นำทางศาสนา ญาติผู้ตายและผู้นับถือศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติทางศาสนา เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีความรู้และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเองและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าว สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำสรุปย่อรายงานการเก็บข้อมูลตามโครงการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศมุสลิม ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดได้ที่ http://www.oja.go.th.
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
โทร.0-22701350-4 ต่อ 113,109