“สระแก้ว” พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ข่าวทั่วไป Monday November 29, 2010 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากความตกลงร่วมมือของกลุ่มประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมกัน ในการนำอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน ภายใต้การรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อทุกประเทศในอาเซียนเรื่องตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การเคลื่อนย้ายปัจจัยทุนต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น จึงเป็นเสมือนการจุดประกายให้ประเทศต่างๆ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสนี้ให้ได้มากที่สุด ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ขึ้นที่โรงแรมอรัญเมอร์เมด อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัด (กิจกรรมการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบในการจัดตั้งสถานีขนถ่ายสินค้า) ซึ่งทางจังหวัดสระแก้วได้ว่าจ้างให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำการศึกษา นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวในการเปิดประชุมว่า “จังหวัดสระแก้ว มีความพร้อมในการพัฒนาเพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาถึงแนวทางการจัดตั้งสถานีขนถ่ายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งและเตรียมความพร้อมเต็มที่ในการผลักดันจังหวัดสระแก้วไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศกัมพูชาจะให้ความร่วมมือในเรื่องการจัดตั้งจุดผ่านแดนเพิ่มเติมให้สอดรับกับโครงการของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ทั้งนี้ ภาครัฐนำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ตามยุทธศาสตร์การค้าหลักเรื่อง “3 วงแหวน 5 ประตูการค้า” และพร้อมเต็มที่ที่จะผลักดันจังหวัดสระแก้ว ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในประตูตะวันออกเชื่อมการค้าสู่กัมพูชาและเวียดนาม ทั้งนี้ได้มีการลงพื้นที่เพื่อดูความเหมาะสมในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมาแล้วถึง 2 ครั้ง รวมถึงการดูเส้นทางการค้ากัมพูชาเวียดนาม และมีการนำประเด็นเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติเพื่อผ่านมติการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแหล่งที่ 2 ต่อจากที่นครแม่สอด จ.ตาก ด้าน ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษา เปิดเผยว่า “การพัฒนาการค้าจังหวัดสระแก้ว ก็คือการพัฒนาการค้าประเทศไทย เพราะนอกจากสัดส่วนการค้าชายแดนที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศแล้ว การพัฒนาจังหวัดสระแก้ว จะเป็นเสมือนการเชื่อมประตูการค้าฝั่งตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชาและเวียดนาม ไปสู่ประตูการค้าฝั่งตะวันตก ไปยังพม่าและอินเดีย โดยเป็นการพัฒนาทั้งระบบการค้าและระบบโลจิสติกส์เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอันดามัน โดยในการศึกษาพบว่า จังหวัดสระแก้ว มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ที่สำคัญของอาเซียนต่อไปในอนาคต” ทางด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะรองหัวหน้าโครงการ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความพร้อมด้านต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ขึ้น อาทิ ความพร้อมในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดและภูมิภาค เข้าด้วยกัน ความพร้อมทางด้านวัตถุดิบการเกษตรและแรงงานจากประเทศกัมพูชา ความพร้อมของนักลงทุนจากประเทศในแถบเอเชีย ความพร้อมของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่ ทำให้ในปัจจุบันสระแก้วสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคต โดยท้ายที่สุดแล้วด้วยศักยภาพดังกล่าวจะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาสู่จังหวัดสระแก้วและกลุ่มจังหวัดได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้มีการอธิบายถึงการศึกษาแนวทางในการจัดตั้งสถานีขนถ่ายสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งที่จุดผ่านแดนคลองลึก พร้อมพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้ง 5 แห่ง ได้แก่ บ้านป่าไร่ ตำบลป่าไร่ ,บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม ,จุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ ตำบลผ่านศึก ,บ้านเขาดิน ตำบลคลองหาด และบ้านโนนหมากมุ่น กิ่งอำเภอโคกสูง โดยจากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่บ้านป่าไร่และบ้านหนองเอี่ยนมีคะแนนความเหมาะสมเป็น 2 อันดับแรกและมีคะแนน ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยในระยะสั้นสถานีขนถ่ายสินค้าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งได้ และในอนาคตสถานีขนถ่ายสินค้าแห่งนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้งสถานีขนถ่ายสินค้านี้ก็ยังมีความสอดคล้องกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งจุดผ่านแดนใหม่ของประเทศกัมพูชาอีกด้วย นอกจากนี้ในการประชุมยังได้มีการอธิบายถึงแบบแปลนสถานีขนถ่ายในแต่ละระยะ การก่อสร้าง รวมถึงความคุ้มค่าทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ในการลงทุนเปรียบเทียบจากการลงทุนรูปแบบต่างๆ ด้วย ในส่วนของเรื่องแนวทางในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้มีการศึกษากรณีศึกษาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ในการจัดตั้ง โดยในการศึกษาเบื้องต้นนี้ พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ พื้นที่เขต อ.วัฒนานคร และพื้นที่ อ.อรัญประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ คือ อุตสาหกรรม แปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมสะอาดต่างๆ พร้อมทั้งยังศึกษาถึงแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านบริการและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของจังหวัดสระแก้ว และกลุ่มจังหวัดเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เช่น ปราสาทนครวัด ทั้งนี้จะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดในโครงการจากการศึกษาครั้งต่อไป หลังจากฟังความคิดเห็นต่างๆ แล้ว ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ในการทำให้สถานีขนถ่ายสินค้าประสบความสำเร็จต้องพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเงื่อนไขประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจังหวัดสระแก้วเองมีศักยภาพและ ความพร้อมในทุกด้านที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ดังนั้น การศึกษานี้จะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินการของจังหวัดสระแก้วเพื่อรองรับโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของอาเซียน แห่งใหม่นี้ให้เกิดขึ้นจริงได้”
แท็ก community   อาเซียน   (AEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ