กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
การสัญจรจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ในเทศกาลวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 6 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข.) โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ช่วยพัฒนากระบวนคิดเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ให้กว้างไกลออกไป นอกเหนือจากการเรียนรู้แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
การจับมือกันระหว่าง สสวท. กับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สข. ในการจัดฉายภาพยนตร์และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ในเทศกาลวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ “Science Film Festival” ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2553 ณ หอประชุม 1 มรภ.สข. ก็ด้วยต้องการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของเด็กไทย ให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมนานาชาติ ผ่านทางกลยุทธ์ที่หลากหลาย และการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนการสอน กลวิธีหนึ่งคือการเรียนรู้จากภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่ายขึ้น
นอกเหนือจากการจัดฉายภาพยนตร์ ที่แบ่งออกเป็นรอบต่าง ๆ แล้ว ภายในงานยังมีการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นชิ้นงานสื่อสัมผัส นักเรียนที่เข้าชมงานสามารถทดลองเล่นและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมวิทยาศาสตร์หรรษา เป็นต้น ทุกกิจกรรมสร้างความสนุกสนานและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษากว่า 4,000 คน จากหลายโรงเรียนในจังหวัดสงขลา ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจรรมในครั้งนี้
เด็กชายสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด หรือ น้องตงเล้ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวถึงความน่าสนใจของวิทยาศาสตร์ ว่า วิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ถือเป็นกิจกรรมที่ดี ผมชอบมากครับ เพราะได้ออกมาหาความรู้นอกห้องเรียน และได้ดูการ์ตูนสนุก ๆ ที่สำคัญ ผมชอบเรียนวิทยาศาสตร์และชอบการทดลอง ระหว่างเรียนคุณครูให้ผมดูสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ จากกล้องจุลทรรศน์ด้วยครับ
เด็กหญิงจิรพัชร ศรีใส หรือ น้องหงส์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา บอกว่า เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งการชมภาพยนตร์ในครั้งนี้ ได้รับทั้งความรู้และความสนุก แถมยังมีของรางวัลแจกให้เด็ก ๆ ด้วย หนูชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาก เพราะเป็นวิชาที่ฝึกให้คิดค้น ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง
ด้าน เด็กชายอานัส อุญฉาจริยาวุฒิ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านหาดใหญ่) กล่าวอาย ๆ ว่า การมาร่วมชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผมและเพื่อนๆ รู้สึกสนุกกับการชมภาพยนตร์ เพราะได้หัดคิดตามไปด้วย ดีใจมากที่ได้มาร่วมชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ครับ
ในขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สข. กล่าวว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ให้ทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว ผู้ชมได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และสาระความรู้ อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต วิทยาศาสตร์จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยพัฒนากระบวนคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อเด็กเกิดความคุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์แล้ว ผลทางอ้อมก็คือ สามารถขจัดความกลัวที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนี่ก็คือบทพิสูจน์ว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ในยุคนี้ น่าสนใจกว่าที่คิด