ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3

ข่าวทั่วไป Tuesday November 30, 2010 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3(ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3)ณ เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3) เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมฯ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และรองผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ทั้ง 13 ประเทศ เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ซึ่งมีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้ 1. ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ การจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 โดย CGIF จะมีขนาด 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่ค้ำประกันพันธบัตรให้แก่ภาคเอกชน โดยจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสามารถระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปทานของพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน+3 โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่างนโยบายบริหาร (Operational Policies) ของ CGIF และคาดว่า CGIF จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2554 2. ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และความคืบหน้าในการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) ซึ่งจะจัดตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และติดตามภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาค และสนับสนุนการทำงานของ CMIM ให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AMRO ซึ่งในขณะนี้ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในเพื่อร่วมลงนามในความตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดให้มีการสรรหาบุคลลากรเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ของ AMRO โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ (Director) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2554 เพื่อให้สำนักงานฯ สามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2554 3. นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวรายงานที่ประชุมฯ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียได้มีการฟื้นตัวได้ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาจากอัตราการว่างงานและระดับหนี้สาธารณะที่สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งการไหลเข้าของเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียดังกล่าว นอกจากจะเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคปรับแข็งค่าขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ในภูมิภาคได้ ทั้งนี้ ความท้าทายของประเทศในภูมิภาคเอเชียในระยะต่อไป คือการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสม ทั้งในด้านการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการเพื่อมิให้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ 4. ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) โดยเห็นว่าการดำเนินมาตรการต่างๆ จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และขึ้นอยู่กับสถานการณ์การไหลเข้าออกของเงินทุนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาจอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว อาทิ AMRO และ CMIM ในการเฝ้าระวัง บริหารจัดการ และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ โดยผู้แทน IMF มีความเห็นเพิ่มเติมว่า มาตรการ Capital Control อาจใช้เป็นมาตรการเสริมการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารกลางตามปกติ ในกรณีที่ 1) ค่าเงินแข็งค่าเกินกว่าที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะรับได้ 2) ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกินกว่าความต้องการ และ 3) เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ ผู้แทน IMF เห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้มาตรการ Capital Control เพราะความเสี่ยงจากฟองสบู่ยังไม่ชัดเจนมากนัก รวมทั้งการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารกลางเอเชียตามปกติยังมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่ 5. ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยในการประชุม AFDM+3 ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการบริหารจัดการความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในเชิงมหภาคแล้ว ประเทศต่างๆ ยังต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจไม่สามารถปรับตัวให้ทันและตอบสนองต่อความท้าทายจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ นอกจากนี้ ได้ขอให้ ADB ศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการใช้เงินตราในภูมิภาคในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างกัน ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ ทั้งนี้ การประชุม AFDM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2554 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีอินโดนีเซียและญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุม สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02-2739020 ต่อ 3609

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ