สสส.อาชาบำบัด นครศรีธรรมราช

ข่าวทั่วไป Tuesday November 30, 2010 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--บรอดคาซท์ วิตามิน อบต.ปากพูน ต้นแบบ “ตำบลสุขภาวะ”ดูแลเด็กพิการ-ด้อยโอกาสด้วย “อาชาบำบัด” ในครอบครัวหากมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหรือผู้พิการที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็มักจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ดูแลทั้งในด้านสุขภาพจิต สุขภาพกาย และสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นภาระแก่ครอบครัวในทุกๆ ด้าน องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่นำแนวคิดเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตมาบูรณาออกแบบการกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นตำบลสุขภาวะ โดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา สอดคล้องกับความต้องการและทุกปัญหาของชุมชนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้พิการที่แม้จะมีส่วนน้อยแต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ อบต.ปากพูน กลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเพื่อการพัฒนาสู่ตำบลสุขภาวะ”ที่ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาหนุนเพื่อขยายผลการดำเนินงานของ “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเรื่อง “การบูรณาการสู่ตำบลสุขภาวะ” แก่เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ภายใต้ “โครงการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการสุขภาวะโดยชุมชน” โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ อบต.ปากพูน จัดทำขึ้นเพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการในชุมชนก็คือ “อาชาบำบัด” ที่นำ “ม้า” มาใช้ในกระบวนการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่พิการทางสมอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านของสุขภาพกายและสุขภาพจิต และยังสร้างโอกาสการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเยาวชนในพื้นที่ นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ โดยปัจจุบันมีโครงการต่างๆ เพื่อดูแลระบบสุขภาพของคนในชุมชนจำนวนมาก แต่เป้าหมายหลักของโครงการต่างๆ ก็คือทำอย่างไรให้คนในชุมชนได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น “อาชาบำบัดเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นจากโอกาสในการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขของคนในชุมชนที่มีน้อย และแต่ละบริการก็มีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนใหญ่บริการสาธารณสุขเหล่านี้ก็อยู่นอกขอบข่ายของการให้บริการตามหลักประกันสุขภาพ ทาง อบต.ปากพูน จึงได้จัดให้มีกิจกรรมอาชาบำบัดขึ้นในชุมชน เพื่อบำบัดดูแลเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการในชุมชน ซึ่งนอกจากม้าจะมาช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว เรายังใช้ม้าช่วยในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยนำม้ามาใช้เป็นรถม้าพยาบาล รถม้ารับส่งเด็กนักเรียน เพราะการใช้ม้ายช่วยลดการใช้น้ำมันและยังไม่ก่อมลพิษให้กับชุมชนอีกด้วย” นายธนาวุฒิกล่าว นางนุจิรา จุติชอบ คุณแม่ของ “น้องปลั๊ก” เด็กชายวัย 7 ขวบที่พิการทางด้านสมองมาตั้งแต่กำเนิด เล่าว่าเดิมนำน้องปลั๊กไปรับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติดหรือเอ็นยึด แต่ในเรื่องของพัฒนาการในด้านต่างๆ แทบจะไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอและมีผู้ป่วยรายอื่นๆ มารอรับบริการจำนวนมาก ประกอบกับเคยได้ยินว่าอาชาบำบัดช่วยเด็กพิการทางสมองในเรื่องของการพัฒนาระบบการทรงตัว พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย และฝึกสมาธิให้กับเด็กที่ป่วยทางสมองได้ เมื่อรู้ว่าทาง อบต.ปากพูนมีกิจกรรมอาชาบำบัดจึงไม่รอช้ารีบพาน้องปลั๊กมาทำการรักษา “น้องปลั๊กจะมารับการบำบัดจากครูฝึกขี่ม้าร่วมกับนักกายภาพบำบัดของ อบต.ปากพูน อาทิตย์ละ 4 วัน แต่ละครั้งจะใช้เวลาฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยคือเมื่อก่อนจะนั่งหรือทรงตัวนิ่งๆ ไม่ได้เลย นั่งเฉยๆ ก็ล้มต้องคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพราะกล้ามเนื้อหลังไม่มีตัวจะอ่อนเอนไปมา แต่หลังจากทำกิจกรรมอาชาบำบัดน้องปลั๊กสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น นั่งเก้าอี้ได้ ส่วนพัฒนาการอื่นๆ ก็ดีขึ้น มีอารมณ์ดีขึ้น กล้าเล่นกับสัตว์ต่างๆ มากขึ้น ทำให้เราดูแลเขาได้ง่ายขึ้น มีเวลาที่จะไปทำงานบ้านอื่นๆ ได้ ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้คลาดสายตา” คุณแม่น้องปลั๊กกล่าว ด้านคุณพ่อของน้องปลั๊ก นายชรินทร์ จุติชอบ ที่มาเฝ้าดูการบำบัดทุกครั้งบอกว่า การนำลูกชายมารับการบำบัดแตกต่างจากการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะมีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านกายภาพบำบัดน้อย แล้วก็ดูแลไม่ทั่วถึงเพราะมีผู้ป่วยเยอะ อีกทั้งการรักษาก็ทำการรักษารวมกับผู้ป่วยรายอื่นๆ ทำให้น้องปลั๊กที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้วมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย “หลังจากมารักษาด้วยอาชาบำบัดก็เห็นได้ชัดว่าน้องปลั๊กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถนั่งเองได้ หรือคลานไปไหนมาไหนได้ แล้วก็เริ่มพูดหรืออกเสียงเป็นคำสั้นๆ ได้นิดหน่อย อีกอย่างหนึ่งก็คือสุขภาพก็แข็งแรงขึ้นไม่ป่วยบ่อยเพราะได้ออกกำลังกาย อาการเกร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกายก็น้อยลง อารมณ์ก็ดีขึ้นร่าเริงแจ่มใส ซึ่งทำให้มีความหวังว่าต่อใปน้องปลั๊กคงจะแข็งแรงขึ้น สามารถเดินได้เอง ดูแลตัวเองได้ และ สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ ได้” นายชรินทร์กล่าว ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า อบต.ปากพูนมีจุดเด่นในเรื่องของการเชื่อมโยงการทำงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา การพัฒนาเด็ก เศรษฐกิจชุมชน สุขภาพ คุณภาพชีวิต ฯลฯ โดยนำประเด็นเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันและเชื่อมโยงกันจนเกิดประโยชน์กับทุกคนชุมชน ทำให้ตำบลปากพูนเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในด้านการพัฒนาเป็นตำบลสุขภาวะที่น่าสนใจ ในปัจจุบันเรามีตำบลต้นแบบ 18 แห่งทั่วประเทศ “การขยายผลการดำเนินงานสร้างตำบลสุขภาวะ สสส.ได้ดำเนินงานโดยการเสาะหา อบต. ที่เป็นต้นแบบแล้วก็เข้าไปสนับสนุนแล้วให้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ โดย สสส.ไม่ได้ให้งบประมาณไปเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ แต่เราให้งบประมาณไปเพื่อใช้สำหรับให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ และให้ อบต.ต่างๆ ทั้ง 18 แห่งของเราเป็นศูนย์เรียนรู้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับการทำงานตามปกติ ในอนาคตถ้าเราสามารถขยายผลการดำเนินงานหรือเครือข่ายออกไปในหลายๆ ตำบล ต้นแบบหรือเครือข่ายในลักษณะนี้จะเป็นเครือข่ายที่มีพลัง ที่จะทำให้ท้องถิ่นอื่นๆได้เรียนรู้การทำงานเพื่อตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น เกิดเป็นชุมชนในลักษณะนี้ขึ้นทั่วประเทศ ผลที่ได้ก็คือคนไทยและประเทศไทยก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ผู้จัดการ สสส. กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ