กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สสวท.
“ความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเรา” คำพูดที่ปรากฏใน ภาพยนตร์เรื่อง OCEANS ภาพยนตร์สารคดีจากประเทศฝรั่งเศสในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 6 (Science Film Festival) ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ สอดคล้องกับคำประกาศขององค์การสหประชาชาติที่ให้ปี พ.ศ.2553 เป็น “ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”
ภาพยนตร์เรื่อง OCEANS เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เวลาเตรียมการสร้าง และถ่ายทำนานกว่า 6 ปี มีผู้ชมทั่วโลกแล้วถึง 12 ล้านคน เนื้อหาของภาพยนตร์คือการนำผู้ชมดำดิ่งสู่ก้นบึ้งของท้องทะเล เสนอภาพสายใยที่ยึดโยงกันระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และชวนให้ตั้งคำถามถึงร่องรอยการกระทำของมนุษย์ที่อาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สูญพันธุ์ไปในอนาคตอันใกล้
นี่คือหนึ่งในภาพยนตร์จากจำนวน 47 เรื่อง จาก 24 ประเทศ ใน Science Film Festival ครั้งที่ 6 ที่จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และ บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด ระหว่างวันที่ 15 - 30 พฤศจิกายน 2553
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 6 ว่า สื่อต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์สามารถทำให้เยาวชนเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน โดยไม่รู้ตัว การส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ควรมีความหลากหลายใช้หลายๆสื่อมาเข้ามาช่วยกัน และภาพยนตร์ก็เป็นอีกสื่อหนึ่ง
“ภาพยนตร์หรือสื่อทางด้านมีเดียต่างๆ เป็นการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และช่วยให้เด็กหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดความประทับใจ และช่วยให้เด็กได้ปรับระบบคิดต่างๆที่ได้จากการเรียนรู้จากสื่อ หรือแม้กระทั่งทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถค้นพบตัวเอง รวมทั้งสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น การจัดงานภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจรไปตามสถานศึกษาในภูมิภาคต่างๆเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นทุกๆปี” รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวถึง เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 6 ว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่าย เพราะมีทั้งเสียงและภาพทำให้เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม และช่วยพัฒนาเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ภาพยนตร์ทั้ง 47 เรื่องที่นำมาจัดฉายนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนไทย เพราะ หากไม่ใช่เทศกาลฯแล้ว โอกาสที่จะได้ดูคงยาก เพราะหลายๆเรื่องมีลิขสิทธิ์ ต้องใช้เงินมากหากไม่ได้รับความร่วมมือ สำหรับปีนี้ได้มีการขยายเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านพร้อมๆกันด้วย คือ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นการขยายเครือข่าย เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจ ความเชื่อมโยง และประสานกัน
ผู้อำนวยการ สสวท. ยังกล่าวต่อว่า นอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ในศูนย์ที่กรุงเทพฯแล้ว สสวท. ยังนำภาพยนตร์เหล่านี้ไปสัญจรในสถานศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในต่างจังหวัดได้ชม จึงอยากให้ครูใช้ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เหล่านี้ ในการกระตุ้นให้นักเรียนคิด ตั้งคำถาม ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ขึ้น
นอกจากเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ที่จัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ในอนาคตข้างหน้า ดร.พรพรรณเปิดเผยต่อว่า สสวท.ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์กำลังจะมีโครงการที่นำสื่อมาใช้สำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อีก 2 โครงการคือ โครงการความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการของไทย กับโปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นในการผลิตรายการสั้นๆด้านวิทยาศาสตร์ เพราะประเทศญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญทางด้านการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว โดยอาจดึงเยาวชนไทยที่สนใจด้านการผลิตภาพยนตร์มาร่วมด้วย
ส่วนโครงการที่สองคือ การเซ็นสัญญากับ สถานีโทรทัศน์ NHK ของประเทศญี่ปุ่น ในการนำรายการเกี่ยวกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติรอบตัว เกือบ 400 เรื่อง มาออกอากาศในประเทศไทย โดยสามารถออกอากาศได้ภายใน 5 ปี และสามารถนำมาผลิตเป็นสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนได้ด้วย รายการเหล่านี้จะมีความยาวประมาณ 3-4 นาที โดยมีการแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้เด็ก และเยาวชนทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งทั้งสองโครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
สำหรับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 6 นี้ แบ่งภาพยนตร์เป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ ภาพยนตร์สาระบันเทิง ภาพยนตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั่วไป การแพทย์และเทคโนโลยี และภาพยนตร์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
ในกรุงเทพและปริมณฑลผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ที่ โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซินีเพล็กซ์ รัตนธิเบศร์ , ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย , อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย , หอภาพยนตร์ ศาลายา นครปฐม , องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ , จตุรัสวิทยาศาสตร์ อาคารจามจุรีสแควร์ , อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ณ สถาบันเกอเธ่ และสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค สสวท.ร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ภาค จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในเทศกาลดังกล่าวยังศูนย์ภาพยนตร์สัญจรภูมิภาคจำนวน 26 ศูนย์ นำความรู้คู่ความบันเทิงเข้าถึงนักเรียนและเยาวชนไทยในต่างจังหวัดทั้ง 4 ภาค
หากพลาดชมเทศกาล ฯ ในปีนี้ โปรดติดตามชมได้ในเดือนพฤศจิกายน ปีหน้า
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www3.ipst.ac.th/sciencefilm หรือwww.goethe.de/sciencefilmfestival