กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--บีทีเอส
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และนายประพันธ์พงษ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากซอยสุขุมวิท 85 - ซอยสุขุมวิท 107 (อ่อนนุช - แบริ่ง) ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร ซึ่งพิธีลงนามได้จัดขึ้นที่ห้องบอลรูม โรงแรมอิสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ได้แต่งตั้งให้ บีทีเอสซีเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 เพื่อการให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยให้บีทีเอสซี มีหน้าที่ให้บริการเดินรถ บริหารและบำรุงรักษาส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ตามมาตรฐานการให้บริการที่ระบุไว้ในสัญญาโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช - แบริ่ง ซึ่งนอกเหนือจากการให้บริการผู้โดยสารในสถานีใหม่ที่เพิ่มขึ้น และ บำรุงรักษาระบบทั้งหมดแล้ว บีทีเอสซี จะต้องจัดหารถไฟฟ้ามาให้บริการในส่วนต่อขยายดังกล่าว และจะต้องดูแลรักษาและซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้าเหล่านั้นด้วย ในเบื้องต้น สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงมีระยะเวลา 1 ปี นับจากวันเริ่มเดินรถเชิงพาณิชย์ (ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2554) โดยอาจมีการต่ออายุสัญญาได้เป็นระยะเวลา 19 ปี (ซึ่งรวมระยะเวลา 1 ปีแรก) หรือจนกว่าสัญญาสัมปทานของโครงการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเดิมจะสิ้นสุดลง โดยที่บีทีเอสซี จะได้รับค่าจ้างสำหรับการให้บริการทั้งหมดในปีแรกเป็นเงินจำนวน ประมาณ 674 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดและบีทีเอสซีได้ร่วมลงนามในสัญญาจ้างงานช่วงเตรียมความสมบูรณ์ของโครงการ ซึ่งรวมถึงการทดลองเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
อนึ่ง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง นี้ กรุงเทพมหานครได้เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโครงสร้างระบบ (Civil Works) และระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical and Mechanical Works) โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนสิงหาคม 2554 ประกอบด้วย 5 สถานี คือ สถานีบางจาก สถานีปุณณวิถี สถานีอุดมสุข สถานีบางนา และสถานีแบริ่ง โดยล่าสุด บีทีเอสซีได้มีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งคนให้มากขึ้น เพื่อรองรับส่วนต่อขยายดังกล่าวโดยได้มีการลงนามสั่งซื้อตู้รถไฟฟ้าจำนวน 35 ตู้จากกลุ่มซีเมนส์ฯ เพื่อนำมาต่อพ่วงเข้ากับขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม35 ขบวน ซึ่งจะทำให้บีทีเอสซี มีขบวนรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 47 ขบวน ความยาวขบวนละ 4 ตู้ รวมทั้งสิ้น188 ตู้ ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมดนี้จะวิ่งให้บริการผู้โดยสารทั้งระบบที่มี ระยะทาง รวม 30.95 กิโลเมตร แยกเป็นสายสุขุมวิท จากสถานีหมอชิต — สถานีแบริ่ง 22.25 กิโลเมตร และสายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีวงเวียนใหญ่ 8.7 กิโลเมตร
นายประพันธ์พงษ์ กล่าวว่า “เหตุผลในการที่ให้ บีทีเอสซี เป็นผู้ให้บริการการเดินรถนี้นั้น ได้คำนึงถึงความสะดวกของประชาชนในการที่จะใช้บริการส่วนต่อขยายได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนระบบการเดินทาง นอกจากนั้น บีทีเอสซียังสามารถใช้บุคคลากร และทรัพยากรด้านอื่นๆเช่น อู่จอดและซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุมการเดินรถ เป็นต้น ร่วมกับระบบที่มีอยู่เดิมได้ ทำให้กรุงเทพมหานครไม่ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนเหล่านั้นด้วย”