กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
งานประเพณีตามไต้ลอยกระทง ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข.) และเทศบาลตำบลเขารูปช้าง ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กิจกรรมหนึ่งที่ตรึงสายตาผู้เข้าชมงานได้อย่างมาก คือ กระทงใหญ่ที่ผ่านการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา มรภ.สข. ที่ขอใช้โอกาสนี้แสดงศักยภาพ
ในงานลอยกระทง ประจำปี 2553 คณะต่าง ๆ ทั้ง 7 คณะของ มรภ.สงขลา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ได้จัดส่งกระทงใหญ่เข้าร่วมประกวด ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมคชนาคิน ภูมิแผ่นดินมหาราชา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร ซึ่งกระทงดังกล่าวมีการนำเอาวัตถุดิบธรรมชาติมาตกแต่งกระทงได้อย่างสวยสดงดงาม ในขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมประทีปประณีตศิลป์ จากชมรมคนรักษ์งานฝีมือ บ้านพรหมจักรสงขลา รับเงินรางวัล 10,000 บาท และเกียรติบัตร ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมดาวดึงส์ ชุมชนวัดตีนเมรุฯ ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท และเกียรติบัตร นอกจากนนี้ ยังมีรางวัลชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีมวิวัศน์ทัศนาจากจันทร์ฉาย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ทีมอนันตนาคราช องค์การนักศึกษาภาค กศ.บป. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
นายสมพงศ์ ปิ่นทองพันธ์ นายกองค์การนักศึกษา ภาค กศ.บป. ตัวแทนทีมอนันตนาคราช กล่าวถึงแนวคิดในการทำกระทงว่า ทีมของตนประดิษฐ์กระทงเป็นรูปพญานาคสามเศียร สามารถพ่นน้ำได้ ซึ่งน้ำที่พ่นจากปากของพญานาคในฐานะที่เป็นสัตว์ใหญ่นี้ สื่อความหมายถึงความสุขความร่มเย็น ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย อีกประการหนึ่ง ตำนานเล่าขานว่าพญานาคอาศัยอยู่ในลำน้ำ ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำ ลำคลอง จึงมีความสำคัญต่อทุกชีวิต จึงอยากให้ทุกคนให้ความเคารพพระแม่คงคา เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม
“ปกติภาค กศ.บป. จะเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น แต่เราก็พยายามมีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด อย่างงานลอยกระทงครั้งนี้นอกจากภาค กศ.บป. จะส่งกระทงใหญ่เข้าร่วมประกวดแล้ว เรายังประกวดขบวนแห่ และส่งนักศึกษาเข้าประกวดนางนพมาศด้วย ซึ่งในฐานะที่เรามาเรียนที่นี่ ก็อยากจะช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยเท่าที่กำลังของเราจะทำได้”
อาจารย์ดำรงเกียรติ ศรีเทพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สข. ในฐานะผู้ควบคุมทีมวิวัศน์ทัศนาจากจันทร์ฉาย กล่าวว่า กระทงของทีมตนประกอบด้วยกรวยธูป เทียน ดอกไม้ เพื่อขอขมา ต่อพระแม่คงคา และได้นำเอากรงนกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของ อ.จะนะ จ.สงขลา มาเป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้น ยังนำเอากะลามะพร้าวมาทำเป็นโคมไฟ เนื่องจาก มรภ.สงขลา เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เราจึงนำผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประดับตกแต่งกระทง โดยใช้เวลาในการทำทั้งหมด 3 วัน นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นคนประดิษฐ์ทั้งหมด ทุกคนทุ่มเทมาก กว่าจะได้นอนก็หลังเที่ยงคืน แต่เราก็มีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
ในขณะที่ นายวัชรินทร์ สวัสดิรักษา ตัวแทนคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวถึงกระทงที่จัดทำขึ้นว่า ตนและเพื่อน ๆ ช่วยกันทำเป็นรูปปลาคาบกระทง ซึ่งปลาสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่วนโคมไฟดวงเล็กดวงน้อยที่ประดับอยู่โดยรอบ สื่อถึงปัญญาความคิดที่สว่างใส ลายกนก สื่อถึงความเป็นไทย ทั้งหมดรวมกัน สื่อถึงความสามัคคีของคณาจารย์ และนักศึกษาทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำกระทง เพื่อร่วมกันสืบทอดประเพณีลอยกระทงให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป
“อยากให้ทุกคนได้เห็นในอีกมุมนึ่งของเรา ว่านักศึกษาสายช่างก็สามารถประดิษฐ์งานที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาสังคมมักรับรู้ข่าวในด้านลบเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักศึกษาสายช่าง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงพฤติกรรมของคนบางกลุ่มเท่านั้น”ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาคณะไหน สถาบันใด แต่หากได้ชื่อว่าเป็นคนไทย ย่อมมีความรักความผูกพันในวิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรมไทย