กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. ในฐานะประธาน ก.ล.ต. อาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ตลาดทุนอาเซียน ประตูสู่โอกาสแห่งความมั่งคั่ง” ในงานสัมมนาผู้ลงทุนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
นายธีระชัย กล่าวว่า “กลุ่มประเทศอาเซียนมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว และนำความมั่งคั่งมาสู่ภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนอาเซียนมีสินค้าและช่องทางการลงทุนที่หลากหลาย สามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิผล
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ประเทศเวียดนาม ที่ได้ให้ความเห็นชอบแนวคิด “การเชื่อมโยงอาเซียน” (ASEAN Connectivity) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ อันเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินทุนอย่างมหาศาล ซึ่งจำเป็นต้องมีการระดมทุนผ่านตลาดทุนอาเซียน และลงทุนโดยผู้ลงทุนในอาเซียน
นอกจากนี้ยังมีแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 (ASEAN Economic Community Blueprint 2015) โดยกำหนดให้มีการเปิดเสรีเพื่อเชื่อมโยงกันทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและธุรกรรมทางการเงินของภูมิภาค
ที่ผ่านมาธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ถูกทำผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยไม่มีลักษณะที่ซับซ้อน แต่ในอนาคตธุรกรรมเหล่านี้จะมาใช้ช่องทางตลาดทุนมากขึ้น จึงต้องมีการเร่งพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันตลาดทุนในอาเซียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ระดับการพัฒนา รวมถึงแนวความคิด และความน่าเชื่อถือของตลาดแต่ละแห่ง”
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก.ล.ต. อาเซียน ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาตลาดทุนสู่การรวมตลาด (Implementation Plan) อย่างเป็นขั้นตอนจนถึงปี 2558 และแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันอาเซียนแบรนด์ให้เป็นสินค้าระดับโลก
แผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง มี 6 ด้านหลัก ดังนี้
หนึ่ง สินค้าอาเซียนแบรนด์ต้องมีคุณภาพดี ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง ACMF จะมีโครงการประเมินและรายงานการจัดอันดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอาเซียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเปรียบเทียบ โดยการประเมินจะเริ่มในปี พ.ศ. 2555
นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการเรื่องการยอมรับมาตรฐานบัญชีสากล หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกันได้ และการเปรียบเทียบกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศในด้านบรรษัทภิบาล เช่น หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และกรรมการอิสระ และความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละองค์กร เป็นต้น โดยจะขอให้ทุกประเทศเข้าร่วมโครงการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล หรือ โครงการ CG-ROSC (Corporate Governance - Report on the Observance of Standards and Codes) ซึ่งประเมินโดยธนาคารโลก
สอง การเปิดเผยข้อมูลในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่ง ACMF ได้มีการจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในอาเซียน (ASEAN and Plus Standards) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำร่องประกาศใช้เกณฑ์นี้แล้ว ตามด้วยสิงคโปร์ และไทย ตามลำดับ ทั้งนี้ ASEAN and Plus Standards ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เกณฑ์กลาง (ASEAN Standards) ที่ทุกประเทศในอาเซียนจะใช้ร่วมกัน และเกณฑ์เพิ่มเติม (Plus Standards) ซึ่งเป็นเกณฑ์ปลีกย่อยของบางประเทศที่มีอยู่อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และความจำเป็นทางด้านกฎหมายของประเทศนั้นๆ
ซึ่งจุดหมายในท้ายที่สุด คือจะต้องไม่มี Plus Standards เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนแก่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ โดยให้มีการจัดทำหนังสือชี้ชวนเพียงชุดเดียว หรือที่เรียกว่า Single Passport
สาม การเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศจะทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอขายหน่วยลงทุน (collective investment schemes: CIS) โดยได้มีกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจนผ่านการยอมรับกฎเกณฑ์ซึ่งกันและกัน (mutual recognition) เพื่ออำนวยความสะดวกให้สินค้าที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศหนึ่งสามารถเสนอขายได้ในทุกประเทศในอาเซียน โดยไม่ต้องผ่านการขออนุญาตต่อหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอื่นอีกครั้ง
การเสนอขาย CIS ต่อผู้ลงทุนสถาบันจะอนุญาตให้ทำได้ภายในครึ่งแรกของปี 2555 สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย จะอนุญาตให้เสนอขาย CIS ที่ไม่ซับซ้อนภายในครึ่งหลังของปีเดียวกัน ส่วน CIS ที่ซับซ้อนจะอนุญาตให้เสนอขายได้ภายในปี 2556 ทั้งนี้ การเสนอขายจะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเท่านั้นเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า CIS ที่จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายย่อยมีความเหมาะสม จึงได้มีการศึกษามาตรฐานหลักเกณฑ์การลงทุนของ CIS ของกลุ่มประเทศในยุโรปเป็นต้นแบบ เพื่อจะนำมาพัฒนาเป็นมาตรฐานอาเซียนต่อไป (ASEAN — UCITS : Undertaking for Collective Investments in Transferable Securities) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555
สี่ ผู้ลงทุนและตัวกลางสามารถเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ในอาเซียนได้โดยสะดวกและรวดเร็วภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน (ASEAN Exchange Linkage) ซึ่งการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในภูมิภาคจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการได้จากจุดเดียว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย (Bursa Malaysia) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(SGX of Singapore) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะนำร่องโครงการภายในครึ่งหลังของปี 2554 ตามด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ ภายในครึ่งแรกของปี 2555 นอกจากนี้ ยังได้มีการริเริ่มโครงการ “ASEAN Stars” เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในอาเซียนเป็นที่รู้จักในเวทีโลกด้วย
ห้า ผู้ลงทุนที่ลงทุนในสินค้าอาเซียนแบรนด์ต้องได้รับสิทธิและความคุ้มครองในระดับเดียวกัน แม้ว่าACMF จะได้พยายามเพิ่มศักยภาพในด้านความร่วมมือและการบังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่ยังคงมีประเด็นข้อพิพาททั้งระหว่างผู้ลงทุนและผู้เสนอขายหลักทรัพย์ และระหว่างผู้ลงทุนด้วยกันเอง ซึ่งจะต้องมีการสร้างกลไกเพิ่มเติมให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาทางกฎหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำและสะดวก
ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ และทาง ACMF จะจัดหากลไกเพื่อรองรับกรณีข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนรายย่อยและบริษัทหลักทรัพย์ต่อไปด้วย
สุดท้าย คือ ภาระภาษีของแต่ละประเทศจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยเลขาธิการอาเซียนรับที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประเด็นภาษีต่อไป”
นายธีระชัย กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “ภายใต้ความร่วมมือของ ก.ล.ต. อาเซียน ได้มีการกำหนดกรอบไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรวม โดยผู้ลงทุนจะมีสินค้าและทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย สามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผล และสินค้าที่ลงทุนมีคุณภาพ แต่ผู้ลงทุนก็ต้องมีการเตรียมพร้อม เปิดมุมมองใหม่ๆ ศึกษาและทำความคุ้นเคยกับสินค้าต่างประเทศไปด้วย
ในส่วนของผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทมหาชน ก็จะสามารถระดมทุนได้สะดวก มีต้นทุนต่ำ มีสภาพคล่องสูง เป็นที่รู้จักในเวทีต่างประเทศ แต่ก็ต้องไม่ละเลยที่จะพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอในเรื่องของความโปร่งใส การมีบรรษัทภิบาลที่ดี และการปกป้องสิทธิผู้ลงทุน
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งนับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้พร้อมรับโอกาสที่จะมีมากขึ้น ในขณะที่จะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนนี้มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง แต่อย่างไรก็ดี เป็นที่มั่นใจว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุน”