กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--พน.
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในเดือนมกราคมนี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการตัดสินใจว่าจะมีการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2010) กำหนดให้มีการก่อสร้างจำนวน 5 โรง กำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มเข้าระบบในปี 2563 เป็นต้นไป
หากรัฐบาลตัดสินยังไม่ตัดสินใจว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ก็ได้มีแผนรองรับไว้แล้ว คือ จะเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เข้ามาให้เร็วขึ้น 2 ปี โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 หรือหากรัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะมีการปรับแผนพีดีพี โดยเพิ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดในแผน 9 โรง เพิ่มเป็น 13 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ และจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ เพิ่มอีก 1 โรง
อย่างไรก็ตามการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ เพิ่มไม่เป็นผลดีต่อระบบไฟฟ้าโดยรวม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งหากก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ มากเกินไปก็จะเกิดความเสี่ยงในระบบไฟฟ้าของประเทศ
ส่วนการปรับแผนพีดีพีโดยการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศต้องเสียเงินในการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยในแผนพีดีพีปัจจุบันก็ได้กำหนดให้มีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในสัดส่วนไม่เกิน 25% ของกำลังการผลิตรวม หรือคิดเป็นประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี