กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติในการประชุมวันนี้ รับทราบการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาล ตลาดทุนไทยที่มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ และเห็นควรปรับแนวทางและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะปรับปรุงเรื่องนี้แบบบูรณาการ พร้อมเตรียมยกร่างกฎหมาย ให้มีมาตรการลงโทษทางแพ่ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเครื่องมือการลงโทษ คาดว่า มาตรการนี้ จะส่งผลให้การลงโทษมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ โดยดึงกระทรวงยุติธรรมร่วมตั้งคณะทำงาน
วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2550) มีการประชุมคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะกรรมการรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติการประชุมครั้งก่อน ๆ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก สำหรับวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการประเมิน Financial Sector Assessment Program (FSAP) ในเบื้องต้น โดยธนาคารโลก และ IMF ที่ประเมินว่า ถึงแม้ตลาดทุนไทยมีการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้านที่ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่อง enforcement ว่ายังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร และมีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีเครื่องมือการลงโทษที่หลากหลาย โดยไม่ควรหวังพึ่งพิงมาตรการลงโทษทางอาญาเพียงด้านเดียว โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ การดำเนินคดีโดยการลงโทษทางแพ่ง อาจทำได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. และกรรมการในคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลงว่า “ที่ประชุมวันนี้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่บรรยากาศในที่ประชุมที่มีทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในแวดวงตลาดทุน ต่างเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันว่าเราต้องเร่งรัดปรับปรุงระบบ enforcement ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบรรษัทภิบาลให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับระดับสากลโดยเร็ว”
นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า “ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแกนนำในการจัดตั้งคณะทำงานในการพิจารณาปรับปรุงด้าน enforcement ทั้งระบบ โดยคณะทำงานจะรับนโยบายจากคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรองรับมาตรการลงโทษทางแพ่ง และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป นอกจากนั้น เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งจากคู่กรณี และสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบการดำเนินคดี จึงเห็นควรปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วย”
“นอกจากนี้ ปัจจุบันการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เป็นการดำเนินคดีทางอาญา ทำให้มีขั้นตอนและกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะทราบผลอันเป็นที่สิ้นสุดของคดี บางคดีขาดอายุความ หรือบางคดีผู้ต้องหาเสียชีวิตไปก่อนคดีสิ้นสุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันเพื่อยกระดับบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้านแล้ว แต่ในเรื่องของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย หากเรายังไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดในคดีต่าง ๆ ได้ ก็คงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ดังนั้น มติของที่ประชุมคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติครั้งนี้ที่จะร่วมกันผลักดันและปรับปรุงกระบวนการลงโทษให้เห็นผล จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาการด้านบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยให้รุดหน้าต่อไป และเชื่อว่าการประเมินโดยสถาบันต่างชาติในครั้งต่อไป ตลาดทุนไทยจะได้รับผลการประเมินดีขึ้นในเรื่องนี้” นายธีระชัย กล่าวสรุป