กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สผ.
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานอธิการบดี ได้มีการประชุมระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่โจ้ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่าไผ่ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองหาร และตัวแทนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์รชฎ เชื้อวิโรจน์ รศ.ศิริชัย หงษ์วิทยากร ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร อาจารย์ ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร และอาจารย์แสนวสันต์ ยอดคำ เพื่อหารือในการกำหนดให้พื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเมืองเชิงนิเวศนำร่อง หรือ Eco Town ที่มีความน่าอยู่ มีความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ ส ังคม และสิ่งแวดล้อม มีการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียวของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี และเป็นสังคมคาร์บอนต่ำที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการนี้ได้กำหนดว่าในปี พ.ศ. 2554 จะเป็นปีแห่งการกำหนดแผนพัฒนาเมืองเชิงนิเวศนำร่องอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนมีความเข้าใจและมองเห็นภาพความสำเร็จและประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต
จากผลการประชุม ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าแต่ละเทศบาลต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว โครงการเมืองเชิงนิเวศนี้จะทำให้มีการบูรณาการทรัพยากร และงบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง รศ.ศิริชัย หงษ์วิทยากร เห็นว่าการกำหนดผังเมือง การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน การเพิ่มทางจักรยาน การเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียวตามสถานที่ทั่วไปและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเสียและของเสียในชุมชนให้มีการนำมาใช้ประโยชน์กลับคืน เช่น นำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ หรือนำเศษอาหารและเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์แล้วนำมาบริโภคภายในชุมชน เป็นต้น จะทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีและลดก๊าซเรือนกระจกได้ และในขณะเดียวกันคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะได้มีกิจกรรมที่หลากหลายที่แสดงออกถึงความร ับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมที่อาศัยอยู่
คุณอาระยา นันทโพธิเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แสดงความยินดีว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญของประเทศในอนาคต จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีจุดแข็งด้านประสบการณ์ นวัตกรรม และองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำให้เป็นการพัฒนาชุมชนทั้งด้านกายภาพและสังคมไปพร้อมกัน เป็นสังคมคาร์บอนต่ำที่มีความน่าอยู่ที่ยั่งยืนจากการมีส่วนร่วมต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ แม่โจ้/รายงาน