ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ ‘BBB-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวทั่วไป Friday June 1, 2007 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารที่ ‘3’ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ รวมถึงอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคารที่ยังคงอยู่ที่ ‘BB’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ BAY ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’
ในเดือนมกราคม 2550 ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ BAY ภายหลังจาก GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ได้เข้าถือหุ้นของธนาคารในสัดส่วน 29% ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAY คือตระกูลรัตนรักษ์และผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นรายอื่นๆ ได้ทำการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญก่อนหน้านี้จำนวน 463 ล้านหน่วย การเพิ่มทุนดังกล่าวได้ช่วยลดทอนความเสี่ยงของธนาคารในส่วนของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และระดับความพอเพียงของเงินกองทุน ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ การเพิ่มทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการขยายเครือข่ายของธนาคารในระยะปานกลางด้วย GECIH ได้มีบทบาทสำคัญทั้งในคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของ BAY ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าบริหารและประธานเจ้าหน้าบริหารด้านการเงินคนใหม่ นอกจากนี้ BAY ยังน่าจะได้รับประโยชน์จากความชำนาญของ GECIH ในด้านการให้บริการทางธุรกรรมระดับสากล ด้านเทคโนโลยี และด้านการปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงของธนาคารที่มุ่งเน้นลูกค้ารายย่อยซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าน่าจะช่วยให้ผลกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในระยะกลางต่อไป
แนวโน้มของอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ มีพื้นฐานมาจากการที่ BAY มีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าภาพรวมของการดำเนินงานภาคธนาคารจะมีความท้าทายมากขึ้นในปี 2550 รวมทั้งความเสี่ยงในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น การปรับอันดับเครดิตในอนาคตจะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรในอนาคต รวมทั้งเครือข่ายธนาคาร และระดับของการสนับสนุนทางด้านเงินทุนและด้านการปฏิบัติการจาก GECIH ภายใต้ส่วนแบ่งด้านสินเชื่อและเงินฝากที่ค่อนข้างสูง มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถ้าจำเป็น
BAY รายงานผลกำไรสุทธิในปี 2549 จำนวน 1.5 พันล้านบาท ลดลงจาก 6.1 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรฐานการบัญชี IAS39 ในระยะที่ 1 อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของ BAY ยังคงแข็งแกร่ง โดยผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 5.8% เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาส 1 ปี 2550 ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง 24% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลงจาก 1.8 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2549 โดยบางส่วนมาจากค่าใช้จ่ายทางภาษีที่เพิ่มขึ้น
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ 66.2 พันล้านบาท หรือ 14.2% ของสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2550 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ BAY ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 44.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น จากการที่ BAY มีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้น ฟิทช์คาดว่า ธนาคารจะเร่งสร้างความแข็งแกร่งของงบการเงินโดยการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงหรือการตัดบัญชีหนี้สูญในปี 2550 และ 2551
ภายหลังการเพิ่มทุนจำนวน 27.8 พันล้านบาท ในเดือนมกราคม 2550 อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ BAY เพิ่มขึ้นเป็น 17.4% และ 13.2% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 อย่างไรก็ตาม การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่จะเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของสินทรัพย์จะกดดันให้อัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวลดลงในอีก 2 ปีข้างหน้า
BAY ถูกก่อตั้งในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย โดยมีสาขารวม 561 สาขาในประเทศ และมีส่วนแบ่งของสินเชื่อและเงินฝากที่ 8.7% และ 9.4% ธนาคารมีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจในด้านการเงิน ด้านหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ